Four Farm
นวัตกรรมการเกษตร

การขอให้มีการส่งเสริมการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

เรื่อง ขอให้มีการส่งเสริมการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

ฝิ่นหรือชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า ปาปาเวอร์ ซอมนิเฟอรุม (Papaver somnifferum) เป็นพืชล้มลุกที่ขึ้นง่ายในเขตที่มีความชื้น ยางจากผลฝิ่นมีส่วนประกอบสารอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ฝิ่นกลายเป็นสารเสพติดให้โทษร้ายแรง ออกฤทธิ์กดระบบประสาทจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

อย่างไรก็ตาม สารสกัดของฝิ่นที่ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ได้แก่ มอร์ฟีน (morphine) ในปริมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 9.5 โคดีอีน พบในฝิ่นร้อยละ 0.8 – 2.5 ใช้เป็นยาแก้ปวดที่อาจทำให้เสพติด เป็นยาระงับอาการไอ ใช้เป็นยานอนหลับให้ผู้ป่วยที่นอนไม่หลับเนื่องจากอาการไอ มีฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีนแต่อ่อนกว่าและผู้ใช้ติดยาได้น้อยกว่านอสคาพีน หรือนาร์โคทีน พบในฝิ่นร้อยละ 4-8 ใช้เป็นยาระงับอาการไอไม่ทำให้เสพติดรุนแรง และพาพาเวอรีน พบในฝิ่นราวร้อยละ 0.5- 2.5 ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อเรียบใช้ได้ทั้งรูปยากินและยาฉีด

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน การปลูกฝิ่นยังผิดกฎหมาย ทั้งที่พื้นที่ของประเทศเหมาะสมแก่การปลูก และมีการลักลอบปลูกฝิ่นมากทางภาคเหนือของประเทศบริเวณแนวพรมแดนที่เรียกว่าสามเหลี่ยมทองคำ หากมีการส่งเสริมให้มีการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายและนำไปผลิตเป็นมอร์ฟีนได้จะทำให้มีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อทางการแพทย์ทั่วโลก จึงขอเรียนถามว่า
1. รัฐบาลมีแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาการปลูกฝิ่นในประเทศไทยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด
2. รัฐบาลจะมีแนวทางในการส่งเสริมให้มีการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

คำตอบกระทู้ถามที่ 315 ร.

ของ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย
เรื่อง ขอให้มีการส่งเสริมการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

ข้าพเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอตอบกระทู้ถาม เรื่อง ขอให้มีการส่งเสริมการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ของท่านสมาชิกผู้มีเกียรติตามที่ได้รับรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

คำตอบข้อที่ 1

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขทราบว่า ปัจจุบันยังไม่มีแนวคิดในการศึกษาการปลูกพืชฝิ่น
ในประเทศไทยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เนื่องจาก
1. พืชฝิ่นจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดบทบัญญัติผ่อนปรนให้สามารถนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้
2. ฤทธิ์สารสกัดที่ได้จากพืชฝิ่น ได้แก่ มอร์ฟีน จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางแรงกว่าฝิ่นประมาณ 8 – 10 เท่า มอร์ฟีนถูกนำมาใช้เป็นยาระงับอาการปวดทางการแพทย์และต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษเท่านั้น มอร์ฟีนสามารถนำไปสังเคราะห์ได้เป็นเฮโรอีนซึ่งจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ฤทธิ์ของเฮโรอีนมีความรุนแรงกว่ามอร์ฟีนประมาณ 4-8 เท่า และรุนแรงกว่าฝิ่น ประมาณ 30- 80 เท่า ถือเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงและทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการติดยาของประชากรในระดับรุนแรง
3. ข้อมูลการนำเข้ามอร์ฟีนทั้งที่เป็นวัตถุดิบและนำเข้ายาสำเร็จรูป และข้อมูลการนำวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในประเทศ ปี พ.ศ. 2561 – 2563 มีการนำเข้าวัตถุดิบ 335 กิโลกรัม มูลค่าการนำเข้าประมาณ 15.9 ล้านบาท มีการนำเข้ายาสำเร็จรูป มูลค่าการนำเข้าประมาณ 305 ล้านบาท รวมมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 320.9 ล้านบาท และมีการผลิตยาสำเร็จรูปภายในประเทศ มูลค่าการจ้างผลิต ประมาณ 79.8 ล้านบาท
สำหรับพืชฝิ่นมีคุณลักษณะทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ การจะศึกษาการปลูกฝิ่นในประเทศไทย จะต้องมีการกำหนดพื้นที่ทำการทดลองปลูกเพื่อการศึกษาวิจัยและทดลองอย่างรอบคอบและรัดกุม ตลอดจนมาตรการกำกับดูแลต้องมีความเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลออกนอกระบบ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของการดำเนินการและความเป็นไปได้ในการนำมาผลิต เป็นยารักษาโรค อีกทั้งพืชฝิ่นเป็นวัตถุดิบสำคัญในการนำมาผลิตเป็นเฮโรอีน ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และเป็นยาเสพติดที่มีความร้ายแรงไม่มีการนำมาใช้ทางการแพทย์ในประเทศ จึงต้องมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและรัดกุมภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่ได้มีการกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีความมั่นคงของยามอร์ฟีนเพียงพอต่อการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ภายในประเทศ ดังนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะใช้การผ่อนปรน
ในการศึกษาตามบทบัญญัติของกฎหมายในสถานการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขและสังคมไทย

คำตอบข้อที่ 2

กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ปัจจุบันการส่งเสริมให้มีการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายยังไม่มีการดำเนินการในประเทศไทย เนื่องจากพืชฝิ่นอยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกต้องจัดให้มีมาตรการควบคุม ห้ามการผลิต นำเข้า ส่งออก การใช้ประโยชน์ เว้นแต่ในปริมาณเท่าที่จำเป็นสำหรับการใช้ทางการแพทย์หรือการศึกษาวิจัยเท่านั้น โดยประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ จึงต้องดำเนินการภายใต้กรอบของอนุสัญญาฯ ดังกล่าว
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 26/2 (1) กำหนดให้ การผลิต นำเข้า ส่งออก ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 กระทำได้ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ให้รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และมาตรา 26/5 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตัวอย่างเช่น
1. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย

2. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

3. สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร
4. ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้ขออนุญาตตาม (1) หรือ (3) ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมดังกล่าวสามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้ขออนุญาตตามข้อ 1 หรือข้อ 3 ด้วย
สำหรับข้อกฎหมายข้างต้น ในการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีพืชฝิ่นซึ่งจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครอง สามารถกระทำได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์เฉพาะทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้นและต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การปลูกพืชฝิ่นที่ถูกต้องตามกฎหมายจะอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ (The International Narcotics Control Board) ซึ่งปัจจุบันมี 21 ประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถปลูกพืชฝิ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อแปรรูปเป็นยารักษาทางการแพทย์สำหรับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

Related posts

วิธีทำถังให้อาหารสัตว์ แบบไม่ต้องเติมบ่อย

Smile Smile
4 years ago

ทำสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ จากขวดน้ำเก่า ทำเองง่ายมาก

Smile Smile
4 years ago

พ่นทิ้งไว้ 1 นาที เห็นผล ปลอดภัยมากๆ

Smile Smile
4 years ago
Exit mobile version