น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสม เป็นไม้ผลที่นิยมปลูกในเขตร้อนและเขตอบอุ่นในส่วนต่าง ๆ ของโลก เนื่องจากมีรสชาติดีนิยมบริโภคทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศไทยปลูกมากที่สุดในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปลูกน้อยหน่าลูกผสมพันธุ์เพชรปากช่อง น้อยหน่าหนัง และน้อยหน่าฝ้าย
ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยสถานีวิจัย ปากช่อง ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มโครงการรวบรวมเชื้อพันธุ์และ คัดเลือกพันธุ์ไม้ผลสกุลน้อยหน่าในปี พ.ศ. 2548 โดยการสำรวจและเก็บตัวอย่างพันธุ์ดีจากแหล่งปลูกทั่วประเทศ แล้วปลูกไว้ในแปลงรวบรวมพันธุ์ขนาดใหญ่สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือก พันธุ์ดี สำหรับแนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหลายพันธ์์เช่น พันธุ์เพชรปากช่อง เนื้อทอง ปากช่อง 46 ปากช่องเคยู 1 ปากช่องเคยู 2 หนังเขียวเกษตร 1 และฝ้ายเขียวเกษตร 1 จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในโครงการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลสกุลน้อยหน่า และสามารถสร้างน้อยหน่าฝ้ายลูกผสมพันธุ์ใหม่ได้คือ น้อยหน่า “พันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2”
พันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 คือน้อยหน่าพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์แม่เพชรปากช่อง และพ่อฝ้ายเขียวเกษตร 1 พันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2 มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ โดยมีลักษณะเด่นของพันธุ์ คือ การเจริญเติบโตของลำต้นดี ให้ผลผลิตสูง โดยมี ลักษณะดีเด่นแตกต่างจากพันธุ์การค้าเดิม คือ ติดผลง่ายและดก ผลมีขนาดปานกลาง (ตลาดต้องการ) ปริมาณเนื้อที่รับประทานได้สูง เนื้อเยอะเป็นเนื้อฝ้าย (ถูกใจผู้บริโภคในประเทศ) กลิ่นหอม รสชาติหวาน เปลือกหนาติดกันเป็นแผ่นไม่แยกตา และผลไม่เละง่าย และอายุหลังการสุกยาวนาน ไม่เละง่าย จึงทำให้ลดความเสียหายจากการขนส่งและมีอายุการวางจำหน่ายที่นานขึ้น (จึงเหมาะแก่การส่งออก) เมล็ดเล็กรูปทรงส่วนมากมีลักษณะรูปไข่เกือบกลม สีน้ำตาล จำนวนเมล็ดเฉลี่ย 26.4 เมล็ดต่อผล เป็นพันธุ์เบาเริ่มติดผลได้ตั้งแต่อายุ 1-2 ปี และ เนื่องจากเป็นลูกผสมของพันธุ์เพชรปากช่องกับฝ้ายเขียวเกษตร 1 จึงให้ชื่อพันธุ์ว่า “ฝ้ายเขียวเกษตร 2”
โดยปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ภายใต้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มผู้ปลูกน้อยหน่าฝ้ายเขียวเกษตร 2 ปากช่อง ” เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการผลิตน้อยหน่าพันธุ์นี้ให้ได้ปริมาณและคุณภาพที่ตลาดต้องการ”
ทั้งนี้การปลูกน้อยหน่า “พันธุ์ฝ้ายเขียวเกษตร 2” เพื่อเป็นพันธุ์ทางเลือกที่เน้นการส่งออก ยังนิยมปลูกเพื่อรับประทานกันในประเทศอีกด้วยเนื่องจากมีปริมาณ และ รสชาติที่ถูกใจและถูกปากผู้บริโภคในประเทศ จึงเป็น น้อยหน่าพันธุ์ใหม่ที่น่าจับตามอง ควรค่าแกการหันมาปลูกอย่างยิ่ง
Related posts