วิธีปลูก ผักกาดขาว ฉบับจับมือทำ !

          ผักกาดขาวเป็นผักอายุปีเดียว มีระบบรากตื้น ใบมีลักษณะห่อปลียาวหรืออาจห่อหลวมๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ใบมีสีขาวถึงสีเขียวอ่อน   ผักกาดขาว นับเป็นผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีผู้นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ใช้บริโภคคือ ส่วนของใบ ซึ่งมีลักษณะเป็นผืนเดียวกันตลอด สามารถบริโภคได้ทั้งแบบสดและนำไปประกอบอาหาร ตลอดจนเป็นผักที่ใช้ในอุตสาหกรรมรูปอื่นๆ อีก ซึ่งทางเราได้เรียบเรียง วิธีปลูก ผักกาดขาว แบบสั้นๆเข้าใจง่ายไว้ในบทความนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับคนที่สนใจปลูก          

แหล่งปลูกที่เหมาะสม

  • อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการปลูกคือ 15-22 องศาเซลเซียส (ช่วงเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธ์)
  • สามารถปลูกได้ในทุกสภาพดิน แต่ที่ดีที่สุด คือ ดินร่วน ระบายน้ำดีและมีความอุดมสมบูรณ์สูง
  • ค่า pH ที่เหมาะสมในการปลูกคือ 6 – 6.8
  • ควรได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน

การเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ

ในการเลือกเมล็ดพันธุ์นั้น ควรเลือกเมล็ดพันธุ์จากผู้จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ มีคุณภาพ บรรจุอยู่ในภาชนะที่ป้องกันความชื้อและอากาศ มีการระบุข้อมูลต่างๆไว้อย่างชัดเจน เช่น ผักกาดขาวปลี กาญจนา , ผักกาดขาวปลี เฮฟวี่ ตราเจียไต๋,  ผักกาดขาว บิ๊กเอ็ม ตราไก่, ผักกาดขาว ท็อปเท็น ตราเทวดา หรือ ผักกาดขาว โชกุน ตราศรแดง เป็นต้น

การเตรียมดิน

  • สำหรับแปลงเพาะกล้า  ไถดินแล้วตากไว้ 5-7 วัน หลังจากนั้นก็คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มากพรวน ย่อยดินให้ละเอียด
  • สำหรับแปลงปลูก ไถหรือขุดดินให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตรและตากดินให้แห้ง ประมาณ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีจากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน

การเพาะกล้า

การเพาะกล้าผักกาดขาวนั้นเป็นการประหยัดเมล็ดพันธุ์ นิยมใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีราคาแพง

  • หว่านเมล็ดให้ทั่วพื้นผิวแปลง
  • ใช้ปุ๋ยคอกหว่านกลบหนาประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร
  • คลุมแปลงด้วยหญ้าแห้งหรือฟางบางๆ แล้วรดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียดให้ทั่วแปลง

การปลูกผักกาดขาว

การปลูกโดยการเพาะกล้า

  • ย้ายลงแปลงปลูก เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ  30-35 วัน
  • การย้ายกล้าไปปลูกควรย้ายในช่วงบ่ายๆ ถึงเย็น หรือช่วงที่อากาศมืดครึ้ม
  • โดยใช้ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 50 x 50 เซนติเมตร
  • คลุมแปลงด้วยหญ้าแห้งหรือฟางบางๆ แล้วรดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียดให้ทั่วแปลง

การปลูกโดยการหว่าน สำหรับการปลูกโดยการหว่านนั้น เหมาะสำหรับเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาถูก คือ ผักกาดขาวใหญ่และผักกาดขาวธรรมดา

  • ผสมเมล็ดพันธุ์ด้วยทรายละเอียดเนื่องจากเมล็ดพันธุ์ของผักกาดขาวนั้นมีขนาดเล็ก
  • หว่านเมล็ดพันธุ์ที่ทำการผสมกับทรายเรียบร้อยแล้วให้ทั่วแปลงปลูก
  • หว่านทับด้วยปุ๋ยคอกหนาประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร
  • คลุมแปลงด้วยหญ้าแห้งหรือฟางบางๆ แล้วรดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียดให้ทั่วแปลง
  • เมื่อต้นกล้างอกและมีใบจริง 1-2 ใบควรถอนแยกเพื่อจัดระยะ
  • เมื่อต้นกล้ามีอายุ 25-30 วันให้ทำการถอนแยกครั้งสุดท้าย โดยจัดระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 50 x 50 เซนติเมตร

การดูแลรักษา

การรดน้ำ

เนื่องจากผักกาดขาวเป็นผักที่ต้องการน้ำมาก ควรให้น้ำสม่ำเสมอ ในระยะแรกควรให้น้ำวันละ 3-4 ครั้ง เมื่อผักกาดขาวมีอายุเกิน 7 วันไปแล้ว ลดลงเหลือให้วันละ 3 ครั้ง เมื่ออายุเกิน 1 เดือนขึ้นไป ให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ไม่ควรให้น้ำในเวลาที่แดดจัดเพราะน้ำอาจร้อนทำให้ผักกาดขาว ซึ่งบางเสียหายได้ง่าย ในช่วงผักกาดขาวกำลังห่อปลีไม่ควรให้ขาดน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้การห่อปลีและการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์

การใส่ปุ๋ย

ควรให้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียมในอัตรา 2:1:1 เช่น ปุ๋ยสูตร 20-10-10 หรือสูตรใกล้เคียง โดยให้ในอัตราประมาณ 80-150 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่เมื่อผักกาดขาวมีอายุ 20 วัน

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวของผักกาดขาวนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์  เช่น ผักกาดขาวปลี กาญจนา มีอายุเก็บเกี่ยว 38-40 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ ผักกาดขาว บิ๊กเอ็ม ตราไก่ มี อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-55 วัน หลังจากหยอดเมล็ด เป็นต้น  การเก็บเกี่ยวนั้นใช้มีดคมๆ ตัดที่โคนต้น แล้วตัดแต่งใบที่เป็นโรคถูกแมลงทำลายออก แต่ยังคงเหลือใบนอกๆไว้ประมาณ 2-3 ใบ เพื่อป้องกันการกระแทก

โรคในผักกาดขาว

โรคเหี่ยวของผักกาดขาว

โรคเหี่ยวของผักกาดขาว

สาเหตุ เชื้อรา Fusarium oxysporum

ลักษณะอาการ  มีใบล่างเหี่ยวแห้งซีกใดซีกหนึ่ง ทำให้ใบเบี้ยวงอไปข้างที่ใบเหี่ยวต่อมาใบทางซีกนั้นจะเหียวเพิ่มขึ้นและเหี่ยวทั่วต้นในเวลาต่อมา เมื่อถอนดูรากจะขาดหลุดจากลำต้นเพราะผุเปื่อยเป็นสีน้ำตาล ผักกาดขาวที่ปลูกในสภาพดินเหนียวและดินทรายมักพบโรคนี้มาก

การป้องกันกำจัด

  • ปลูกพืชหมุนเวียน
  • ทำลายพืชที่ติดเชื้อให้หมด
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Alkylenebis เช่น แมนโคเซป (ฮัมบรูก) (โปรมาเซบ 80) หรือ โพรพิเนบ (แอนทาโคล) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Inorganic เช่น คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ (ฟังกูราน) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Dimethyldithiocarbamate เช่น ไธอะโนซาน(ไทแรม) เป็นต้น

โรคเน่าคอดิน

โรคเน่าคอดิน

สาเหตุ เชื้อรา Pythium sp. เกิดเฉพาะในแปลงเพาะกล้าเท่านั้น

ลักษณะอาการ มี แผลช้ำที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลเน่าและแห้งไปอย่างรวดเร็ว ถ้าถูกแสงแดดทำให้ต้นกล้าหักพับ ต้นจะเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว

การป้องกันกำจัด

  • แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี
  • ไม่ควรหว่านเมล็ดผักแน่นเกินไป
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Phenylamide เช่น เมทาแลกซิล (เมทาแลกซิล) (ลอนซาน 35) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Alkylenebis เช่น แมนโคเซป (ฮัมบรูก) (โปรมาเซบ 80) โพรพิเนบ (แอนทาโคล) เป็นต้น

 

โรคใบด่างของผักกาดขาว

โรคใบด่างของผักกาดขาว

สาเหตุ เชื้อไวรัส Turnip mosaic มีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ

ลักษณะอาการ ใบด่างเขียวสลับเขียวเหลืองแคระแกร็น ใบมีขนาดเล็กลง ตามบริเวณเส้นใบจะพบเป็นสีม่วงปะปนอยู่ เมื่อรุนแรงขึ้นใบจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลืองทั้งใบ และมีลักษณะบิดงอเล็กน้อย

การป้องกันกำจัด

กำจัดเพลี้ยอ่อนที่เป็นแมลงพาหะ

  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม carbamate เช่น คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Pyrethoid เช่น ไซเพอร์เมทริน (ฮุค)  หรือ เดลทาเมทริน (เดซิส) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม phenylpyrazole เช่น ฟิโพรนิล (แอสเซนด์) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Neonicotinoid เช่น ไดโนทีฟูแรน(สตาร์เกิล จี), ไทอะมีทอกแซม(เซนน่า) หรือ อิมิดาโคลพริด(ไบรด้า) เป็นต้น
  • ฉีดพ่นสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น สะเดา ผสมกับน้ำผงซักฟอกเจือจาง

 

แมลงศัตรูพืช

เพลี้ยอ่อน

เพลี้ยอ่อน

ลักษณะการทำลาย ดูดกินน้ำเลี้ยงของส่วนยอด ใบอ่อน ใบแก่และช่อดอก ยอดและใบจะหงิกงอ เมื่อเพลี้ยอ่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พืชก็จะเหี่ยว ใบมีสีเหลืองและร่วงหล่นลำต้นแคระแกร็น

การป้องกันกำจัด

  • กำจัดวัชพืชบริเวณแปลงปลูก
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม carbamate เช่น คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Pyrethoid เช่น ไซเพอร์เมทริน (ฮุค)  หรือ เดลทาเมทริน (เดซิส) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม phenylpyrazole เช่น ฟิโพรนิล (แอสเซนด์) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Neonicotinoid เช่น ไดโนทีฟูแรน(สตาร์เกิล จี)ไทอะมีทอกแซม(เซนน่า) หรือ อิมิดาโคลพริด(ไบรด้า) เป็นต้น
  • ฉีดพ่นสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น สะเดา ผสมกับน้ำผงซักฟอกเจือจาง

หนอนกระทู้ผัก

หนอนกระทู้ผัก

ลักษณะการทำลาย ตัวหนอนจะกัดกินใบ ก้านใบหรือเข้าทำลายหัวปลี ทำลายเป็นหย่อมๆ ตามจุดที่ผีเสื้อวางไข่

แนวทางการป้องกันกำจัด

  • เก็บไข่และตัวหนอนไปทำลาย
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Pyrethoid เช่น ไซเพอร์เมทริน (ฮุค)  หรือ เดลทาเมทริน (เดซิส) เป็นต้น
  • ใช้ (ยาฆ่าแมลงจากธรรมชาติ)
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Avermectin เช่น อะบาเมกติน (ต็อดติ) หรือ อิมาเม็กตินเบนโซเอต(เดอะฮัก) เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Oxadiazine เช่น อินดอกซาคาร์บ (แอมเมท)  เป็นต้น
  • ใช้สารเคมีในกลุ่ม Arylpyrrole เช่น คลอร์ฟีนาเพอร์ หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์(แรมเพจ) เป็นต้น