กัญชง จัดเป็นพืชเส้นใยที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติ ความเหนียวสูง มีค่าการต้านแรงดึงสูง ยืดหยุ่น ทนทาน แข็งแรง ให้เส้นใยที่ยาว ปลูกและดูแลรักษาง่าย ใช้น้ำและปุ๋ยน้อย ปลูกได้ในทุกสภาพอากาศ โรค แมลงและวัชพืชมีน้อย นําไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น เปลือก/เส้นใยทําผลิตภัณฑ์สิ่งทอ แกนลําต้นทําวัสดุก่อสร้าง เมล็ด มีคุณค่าทางโภชนาการสูงทําผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสําอาง และใบสามารถสกัดทําเป็นยารักษาโรค ทําให้มีการใช้ประโยชน์กันมานานและมีการวิจัยและพัฒนามากมาย ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ มากกว่า 30 ประเทศ ที่ผลิตกัญชงในเชิงอุตสาหกรรม เช่น จีน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อังกฤษ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ อียิปต์ เป็นต้น
กัญชง พืชเศรษฐกิจในอนาคต
กัญชง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดและทุกสภาพอุณหภูมิ แต่ดีที่สุดในสภาพแวดล้อม ที่มีความชื้นสูงและอุณหภูมิระหว่าง 14 – 27 องศาเซลเซียส ในช่วงเวลาเพาะปลูก 6 สัปดาห์แรก ต้นกล้ามีความต้องการปริมาณน้ำหรือน้ำฝนจึงจะเจริญเติบโตได้ดี โดยกัญชงจะปลูกระหว่างต้นเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับพื้นที่และปริมาณน้ำฝนในแต่ละภูมิภาค โดยทั่วไปกัญชงจะทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ในระดับหนึ่ง แต่หากมีความแห้งแล้งมากจะทําให้ผลผลิตน้อยลง
เมล็ดงอกและเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ความลึกของการฝังเมล็ดที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 2 – 4 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 6 – 15 เซนติเมตร จะงอกขึ้นได้ภายใน 8 – 14 วัน จากนั้น ต้นกล้าจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเพียง 90 – 120 วัน ก็จะให้ดอกติดเมล็ด สามารถเก็บเกี่ยวนําไปใช้ประโยชน์ได้
การเก็บเกี่ยวกัญชงของชาวเขาทางภาคเหนือ นิยมใช้เส้นใยจากลําต้นของต้นเพศผู้ที่ออกดอกใหม่ มีอายุระหว่าง 3 – 4 เดือน เนื่องจากจะเป็นช่วงที่เส้นใยมีความเหนียวที่สุด เบาและเป็นสีขาว เหมาะสําหรับการใช้เป็นเส้นใยทอผ้า จากคุณสมบัติเด่นของกัญชง คือ เป็นเส้นใยที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนทาน แข็งแรง มีความสามารถในการซึมซับน้ำ รวมทั้งระบายความชื้นได้ดีและด้วยโครงสร้างของเส้นใยที่มีรูพรุนจึงทําให้สวมใส่เย็นสบายในฤดูร้อน และอบอุ่นในฤดูหนาว
ประโยชน์ของกัญชง
การปลูกกัญชง เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะปลูกง่าย ใช้น้ำและพื้นที่น้อย ไม่ต้องใช้สารกําจัดวัชพืชและศัตรูพืช แต่ผลตอบแทนสูงมาก สามารถผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ ได้มากกว่า 25,000 ชนิด เช่น กระดาษ สิ่งทอ เสื้อเกราะ วัสดุก่อสร้าง อาหาร สี ยา น้ำมันหมึก และเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยมีข้อดี ดังนี้
1) เส้นใย สิ่งทอ: เส้นใยกัญชงแข็งแรงและนุ่มกว่าฝ้ายถึง 2 เท่า ใช้น้ำและปุ๋ยน้อยกว่าฝ้าย เจริญเติบโตได้ดี ในทุกสภาพดิน/อุณหภูมิ ไม่เกิดโรคราน้ำค้าง
2) กระดาษและวัสดุก่อสร้าง: ตั้งแต่ทิชชูจนกระทั่งกระดาษแข็ง ผลิตภัณฑ์กระดาษกัญชงมีคุณภาพสูงกว่ากระดาษที่ทําจากต้นไม้มีอายุได้หลายร้อยปี สามารถ recycle ได้หลายครั้ง หรือนํามาใช้แทนอิฐบล็อกในงานวัสดุก่อสร้าง
3) สารทดแทนพลาสติก: กัญชงมีความทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) อาหาร: เมล็ดกัญชง มีโปรตีนสูงที่มีคุณค่าทางโภชนาการมาก สามารถผลิตเป็นอาหารต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น เต้าหู ไอศกรีม นม เป็นต้น
5) น้ำมัน: เมล็ดกัญชงสามารถนํามาผลิตน้ำมันดีเซล สารเคลือบเงา ผงซักฟอก หมึก และน้ำมันหล่อลื่น
กัญชง (hemp) เป็นพืชที่ปลูกง่าย และสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้ผลตอบแทนดีมีคุณประโยชน์หลากหลายด้าน นับเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
Related posts