Four Farm
บทความ

การทำสวนลิ้นจี่

ปัจจุบันแหล่งปลูกลิ้นจี่ในประเทศไทยจะมี 2 แหล่งใหญ่ คือ บริเวณภาคเหนือตอบบน และบริเวณภาคกลางได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ยังกระจายการปลูกลิ้นจี่ไปถึงภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดเลย นครพนม หนองคาย เป็นต้น ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี แต่ก็ไม่มากนัก

 

พื้นที่ปลูก

พื้นที่
• มีความลาดเอียงไม่ควรเกิน 15%
• มีการระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินลึกกว่า 1 เมตร

ลักษณะดิน
ลิ้นจี่เป็นพืชที่ต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงหรือปานกลาง มีการระบายน้ำดีเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงควรปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่สูงพอสมควร เพราะมีการระบายน้ำที่ดีกว่าในพื้นที่ต่ำ ดินควรมีค่าความเป็นกรดและด่าง (pH) = 5.0-7.0

สภาพภูมิอากาศ

การเจริญเติบโตของลิ้นจี่ต้องการอุณหภูมิต่ำประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส
แต่ในช่วงก่อนออกดอกต้องการอุณหภูมิต่ำประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส นานติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์และแหล่งปลูก เมื่อติดผลแล้วอุณหภูมิสูงขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ควรเกิน 40 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้ผลแตกเสียหายได้

แหล่งน้ำ
มีแหล่งน้ำสะอาดที่ไม่มีสารอินทรีย์และอนินทรีย์ที่เป็นพิษปนเปื้อน และมีปริมาณพอที่จะใช้ได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง

ปริมาณน้ำฝน

• ปริมาณน้ำฝนในปีหนึ่งๆ ควรอยู่ระหว่าง 1,200-1,400 มิลลิเมตรต่อปี ลิ้นจี่จะออกดอกติดผลได้ดี
• ถ้าหากพื้นที่ใดมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตรต่อปี แล้วจะต้องมีการให้น้ำช่วยด้วย
• ส่วนจำนวนวันและการกระจายของฝนที่ตกเป็นสิ่งสำคัญ ไม่น้อยกว่าปริมาณรวมของน้ำฝนที่ตกทั้งปี โดยทั่วไป ถ้าหากมีการกระจายของฝน 100-150 วันต่อปี ขึ้นไปจะเหมาะต่อการติดผลของลิ้นจี่มาก

ปริมาณความชื้น

ปริมาณฝนที่ในปีหนึ่งๆ จะมีผลเกี่ยวข้องกับความชื้นในดิน ซึ่งมีความจำเป็นต่อลิ้นจี่ในช่วงการเจริญเติบโตทาง กิ่งก้าน การออกดอกติดผลจนถึงเก็บเกี่ยว แต่ปริมาณความชื้นจะพัฒนา การของลิ้นจี่จะแตกต่างกัน
โดยทั่วไปแล้วลิ้นจี่ต้องการความชื้นในดินสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ซึ่งในช่วงนี้ ถ้าลิ้นจี่ขาดความชื้นในดิน ดอกที่ออกมามักจะแห้งหรือที่ออกดอกแล้วดอกจะร่วง ในกรณีที่มีฝนตกในเดือนเมษายนที่เรียกกันว่า ฝนแรก มักจะทำให้ผลลิ้นจี่แตกและร่วงมาก ดังนั้นการให้น้ำลิ้นจี่ในช่วงหน้าแล้ง แม้จะมีฝนตกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จะต้องมีการให้น้ำ เพราะในระยะนี้เป็นช่วงที่มีความชื้นในดินและความชื้นในอากาศต่ำ

ในฤดูหนาวความชื้นในอากาศจะลดลงตามลำดับ และจะลดลงมากในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ผลลิ้นจี่กำลังสร้างเนื้อ เมื่อการระเหยของน้ำในใบมีมากขึ้น ความชื้นในอากาศที่ต่ำจึงมีส่วนทำให้สร้างเนื้อได้น้อย ผลจึงเล็กและรสเปรี้ยวจัด แม้ผิวเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดงแล้วก็ตาม จึงจำเป็นต้องให้น้ำตามความต้องการของลิ้นจี่

 

พันธุ์ที่ส่งเสริม

พันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกในประเทศไทย
พันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามแหล่งปลูกดังนี้

1. กลุ่มพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือ
เป็นพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นมากและยาวนาน ก่อนการออกดอกมากกว่าพันธุ์ที่ปลูกทางภาคกลาง ได้แก่ ฮงฮวย จักรพรรดิ กิมเจง โอวเฮียะ กวางเจา บริวสเตอร์ และกิมจี๊ เป็นต้น

2. กลุ่มพันธุ์ที่ปลูกในภาคกลาง
ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ส่วนใหญ่ต้องการความหนาวเย็นไม่มากและหนาวเย็นไม่นานก็สามารถชักนำให้ออกดอกได้ ปลูกในที่ราบต่ำแถวอำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ พันธุ์ค่อม (ค่อมลำเจียก) กะโหลกใบยาว สำเภาแก้ว กระโถนท้องพระโรง เขียวหวาน สาแหรกทอง จีน ไทยธรรมดา ไทยใหญ่ กะโหลกใบไหม้ กะโหลกในเตา ช่อระกำ และพันธุ์ทิพย์ เป็นต้น

ลักษณะประจำพันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกทางภาคเหนือ

พันธุ์ฮงฮวย
เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากที่สุดทางภาคเหนือตอนบน โตเร็ว ทรงพุ่มใหญ่ ใบหนา สีเขียว ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ยอดอ่อนสีเหลืองอ่อนปนเขียว จัดเป็นพันธุ์กลาง ออกดอกประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ผลแก่เดือนพฤษภาคม ติดผลดีสม่ำเสมอ ผลดก ผลผลิตสูง ผลโตขนาดผลกว้าง 3.00 เซนติเมตร ยาว 3.5 เซนติเมตร ผลหนักประมาณ 20-30 กรัม ผลทรงกลมรีจนถึงรูปหัวใจไหล่กว้าง หนามห่าง เปลือกค่อนข้างบาง ผิวสีแดงอมชมพู เนื้อสีขาวขุ่น รสหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม คุณภาพดี เมล็ดโต ความหวานประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์โอวเฮียะ
ทรงพุ่มใหญ่แต่เล็กกว่าพันธุ์ฮงฮวย มีกิ่งก้านมากเกิดเป็นมุมแคบ ใบเล็กยาว สีเขียวเข้ม ยอดอ่อนสีแดง เป็นพันธุ์หนัก ออกดอกติดผลไม่สม่ำเสมอ ช่อผลมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์ฮงฮวย ผลทรงรูปหัวใจป้อม ขนาดผลกว้าง 3.0 เซนติเมตร ยาว 3.2 เซนติเมตร ผลหนักประมาณ 18-25 กรัม ผิวผลสีแดงเข้มออกคล้ำ เปลือกบาง เนื้อหนา สีขาวขุ่น เนื้อนุ่ม คุณภาพดีกว่าพันธุ์ฮงฮวย กลิ่นหอมน้อยกว่าพันธุ์ฮงฮวย กิ่งฉีกง่าย ออกดอกประ มาณเดือนมกราคม ผลแก่ประมาณต้นมิถุนายน จัดเป็นพันธุ์หนักต้องการความหนาวเย็นมากและยาวนาน ความหวาน 18.5 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์กิมเจง
จัดเป็นพันธุ์หนักต้องการอากาศหนาวเย็นมากและยาวนาน ทรงพุ่มเล็ก ใบเล็กสั้นยอดอ่อนสีแดง โตช้า ทรงผลกลม ขนาดผลกว้าง 2.8 เซนติเมตร ผลหนักประมาณ 18-20 กรัม หนามใหญ่เกิดห่าง ผิวผลสีแดงอมชมพู หรือสีออกแดง เนื้อผลสีขาวขุ่น เมล็ดลีบ ออกดอกประมาณปลายเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวผลกลางเดือนมิถุนายน พันธุ์กิมเจงอาจแบ่งออกได้เป็น “กิมเจงหนามแหลม” และ “กิมเจงหนามราบ” ความหวาน ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์กวางเจา

ต้นเป็นพุ่มกว้าง ใบเล็กยาวคล้ายพันธุ์โอเฮียะแต่ผลขนาดใหญ่กว่า เจริญเติบโตช้ากว่าพันธุ์ฮงฮวย ออกดอกเดือนกุมภาพันธุ์ถึงมีนาคม ผลแก่ต้นเดือนมิถุนายน ผลทรงรูปหัวใจ หนามไม่แหลม สีของเปลือกเมื่อแก่จัดมีสีแดง ผลหนักประมาณ 35-40 กรัมต่อผล ความหวาน 18.5 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์จักรพรรดิ

ผลโตมาก ออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ผลแก่ปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ขนาดผลกว้าง 4.4 เซนติเมตร ยาว 4.2 เซนติเมตร ผลหนัก 40-50 กรัม หนามไม่แหลม เปลือกหนา เมื่อแก่จัดสีชมพูแดง เนื้อผลหนา 1.1 เซนติเมตร เนื้อมีน้ำค่อนข้างมาก รสดีพอใช้ ความหวานประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะประจำพันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกทางภาคกลาง

พันธุ์กระโถนท้องพระโรง

ผลโต ขนาดผลกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 3.8 เซนติเมตร ทรงผลรูปหัวใจฐานผลราบ ปลายผลมน หนามเล็กเกิดห่าง ผิวผลแดงคล้ำ ฐานหนามมีรอยสีน้ำตาลเป็นแฉกๆ เนื้อผลสีขาวขุ่น น้ำมาก รสหวาน อมเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย เมล็ดโต ความหวานประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์ค่อม

ผลโตแต่เล็กกว่าพันธุ์กระโถนท้องพระโรง ผลรูปหัวใจ ไหล่ข้างหนึ่งยกขึ้น หนามแหลมสั้น มีแฉกเห็น ชัด ระหว่างหนามมีร่องสีเขียวอมเหลือง ผิวสีแดงอมชมพูแก่ เนื้อผลฉ่ำน้ำ รสหวานอมฝาด เมล็ดทรงยาว ขนาดผลกว้าง 3.3 เซนติเมตร ยาว 3.5 เซนติเมตร ความหวานประมาณ 19.5 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์เขียวหวาน

ผลทรงกลม ขนาดผลกว้าง 2.8 เซนติเมตร ยาว 2.8 เซนติเมตร จำนวนผล 1 กิโลกรัม มีประมาณ 60-70 ผล ผิวผลสีเขียวอมเหลือง ด้านฐานผลสีแดงอมชมพู หนามโต เนื้อบาง สีขาวขุ่น รสหวานอมฝาด กรอบ มีกลิ่นหอม เมล็ดโต ความหวานประมาณ 17.5 เปอร์เซ็นต์ ในสภาพภาคเหนือ ผลแก่ก่อนฮงฮวยประมาณ 2 สัปดาห์

พันธุ์สาแหรกทอง

ผลทรงกลมแบนเล็กน้อย ขนาดผลกว้าง 3.2 เซนติเมตร ยาว 3.20 เซนติเมตร ด้านบนของผล ขยายออก บางผลดูคล้ายรูปหัวใจ ไหล่ผลยกเล็กน้อย ปลายผลมน ผิวสีแดงอมชมพู ระหว่างหนามสีขาวอมเขียว หนามเล็กสั้นเกิดถี่ปานกลาง เนื้อผลหนา สีขาวขุ่น น้ำมาก รสหวาน กลิ่นหอม ความหวานประมาณ 18.5 เปอร์เซ็นต์

พันธุ์จีน
ผลค่อนข้างกลม ขนาดผลกว้าง 3.1 เซนติเมตร ยาว 3.2 เซนติเมตร หนามโตปานกลาง แหลม ผิวสีแดงเลือดนก ระหว่างหนามมีสีน้ำตาลแห้งๆ เนื้อหนาสีขาวขุ่น รสเปรี้ยว เมล็ดโตปานกลาง ความหวานประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์

 

LC กลิ่นลิ้นจี่ Lychee Flavor

 

การขยายพันธุ์ลิ้นจี่

การขยายพันธุ์ลิ้นจี่ทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตัดชำ การตอนกิ่ง การทาบกิ่งและการต่อกิ่ง แต่วิธีการ ขยายพันธุ์ที่ชาวสวนนิยมมากที่สุด คือ การตอนกิ่งแบบตอนอากาศ (Air layering) เพราะว่าเป็นวิธีการที่ง่ายประกอบกับลิ้นจี่เป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรบางรายที่ขยายพันธุ์ลิ้นจี่โดยวิธีการ ต่อกิ่ง

การเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ดลิ้นจี่ โดยทั่วไปไม่ค่อยนิยมทำกัน เนื่องจากมักจะมีการกลายพันธุ์ ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด เมื่อนำไปปลูกต้องใช้ระยะเวลานานถึง 10 ปี หรือมากกว่านี้ บางครั้งอาจพบถึง 25 ปี จึงจะออกดอก นอกจากนั้นต้นกล้าที่ได้มีการเจริญเติบโตช้า และบางพันธุ์เมล็ดมักลีบ (chicken tongues) เช่น พันธุ์กวางเจา ซึ่งอาจ มีปัญหาบ้าง แต่ข้อดีของการขยายพันธุ์โดยเมล็ดคือ ได้พันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น พันธุ์ Peerless กลายพันธุ์มาก จากพันธุ์ Brewster และพันธุ์ Bengal กลายพันธุ์มาจากพันธุ์ Purbi เป็นต้น นอกจากนี้การเพาะเมล็ดยังมี จุดประสงค์เพื่อที่จะใช้เป็นต้นตอสำหรับการต่อกิ่งติดตาและทาบกิ่ง

การตอนกิ่ง

การตอนกิ่งลิ้นจี่ปกติจะได้ผลถึง 95-100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปกติจะทำการตอนกิ่งในฤดูฝน มีเทคนิคการตอนกิ่งดังนี้
1. เลือกกิ่งที่ตั้งตรง ความยาว 75-100 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ควรเลือกกิ่งที่ได้รับ แสงเต็มที่จะออกรากได้ดีกว่าที่รับแสงน้อย
2. ควั่นกิ่งโดยใช้คีมปากจิ้งจกบิดบริเวณที่จะควั่น เพื่อให้เปลือกลอกออกและลึกเข้าเนื้อไม้เล็กน้อยเพื่อตัดเยื่อเจริญให้ขาด
3. หุ้มรอยควั่นด้วยขุยมะพร้าวซึ่งบรรจุอยู่ในถุงขนาด 4×6 นิ้ว มัดด้วยเชือกฟางให้แน่น
4. หากต้องการเร่งการเกิดรากให้เร็วขึ้น อาจใช้สารเร่งรากเซราดิกซ์เบอร์ 2 หรือ 3% ทาบริเวณรอยควั่นด้านบน
5. ประมาณ 30-45 วันกิ่งตอนจะเริ่มเกิดราก

การต่อกิ่ง
จุดมุ่งหมายในการต่อกิ่งเพื่อต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากต้นตอ ในด้านการควบคุมขนาดของทรงต้นและนิสัยการเจริญเติบโต ผลผลิต คุณภาพผล รวมถึงความต้านทานโรคต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ

วิธีการต่อกิ่ง

ใช้วิธีการต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม โดยเลือกต้นตอและกิ่งพันธุ์ให้มีขนาดใกล้เคียงกัน คือ มีขนาด 3-10 มิลลิเมตร ความยาวของกิ่งพันธุ์ดี 10-15 เซนติเมตร ยอดพันธุ์ดี ควรมีใบติด 3-4 ใบ

ขั้นตอนการต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม

1. ตัดยอดต้นตอสูงจากพื้น 3-4 นิ้ว ผ่าต้นตอให้ยาวประมาณ 1 นิ้ว
2. เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มยาว 1 นิ้ว
3. เผยอรอยผ่าบนต้นตอออกแล้วสอดโคนกิ่งพันธุ์ดี จัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน
4. พันด้วยพลาสติกให้แน่น
5. นำใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงให้แน่น นำไปเก็บไว้ที่ร่ม แสงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 40-50 วัน จึงเปิดปากถุง

 

 

การปลูก

การเตรียมพื้นที่
หลังจากเลือกพื้นที่ปลูกได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องทำคือ การเตรียมพื้นที่ปลูก ซึ่งจัดได้ว่ามีความสำคัญมาก เพราะลักษณะของพื้นที่แต่ละแห่งนั้นจะแตกต่างกันออกไป สามารถแบ่งได้ 2 แบบ
            1. ที่ลุ่ม
ขุดร่องยกแปลงขึ้นมาเพื่อเป็นการระบายน้ำเพราะลิ้นจี่ไม่ชอบดินปลูกที่แฉะน้ำ สำหรับความลึกของ ร่องประมาณ 80-100 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เมตรหรืออาจขุดร่องตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจาก ความสูงต่ำของพื้นที่ และความกว้างของแปลงปลูกไม่ควรต่ำกว่า 5 เมตร ส่วนความยาวของแปลงปลูกจะแล้วแต่ขนาดของพื้นที่
            2. ที่ดอน
เตรียมพื้นที่โดยการไถพรวนและปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ การเตรียมพื้นที่ในที่ดอนควรคำนึงถึง แหล่งน้ำที่จะใช้ด้วย พร้อมทั้งควรมีการปลูกพืชบังลมเพื่อป้องกันลม

ระยะปลูก

การกำหนดระยะปลูกว่าจะเป็นระยะเท่าใดนั้นมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้
            1. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงจะทำให้การเจริญเติบโตของลิ้นจีดีกว่าการปลูกในดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ฉะนั้นถ้าหากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงแล้ว ควรจะใช้ระยะปลูกที่ห่างขึ้น ซึ่งจะตรงกับคำพูด “ดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง”
            2. ขนาดของทรงพุ่มลิ้นจี่
ต้องคำนึงถึงว่าเมื่อลิ้นจี่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทรงพุ่มจะมีขนาดเท่าใด เพื่อจะป้องกันทรงพุ่มชนกัน เพราะนิสัยการออกดอกติดผลของลิ้นจี่จะมีการออกดอกติดผลบริเวณปลายทรงพุ่ม จึงต้องมีการป้องกันการแย่งแสง
            3. พันธุ์ ลิ้นจี่แต่ละพันธุ์มีการเจริญเติบโตและขนาดทรงพุ่มที่แตกต่างกัน

การเตรียมหลุมปลูก

ขนาดของหลุมปลูกที่เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี มักจะใช้ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก)
ส่วนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อย มักจะใช้ขนาด 80x80x80 เซนติเมตร

การขุดหลุมควรแยกดินออกเป็น 2 ส่วน คือ ดินชั้นบน และดินชั้นล่าง ในการปลูกนั้น ควรนำเอาดินชั้นบนผสมกับปุ๋ยคอกเก่าๆ หรือปุ๋ยหมักประมาณ 1 ปี๊บ และใส่ร๊อกฟอสเฟตหรือกระดูกป่นอีก 100 กรัม คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันดี แล้วนำไปใส่หลุมและนำเอาดินชั้นล่างขึ้นข้างบนกลบทับให้เต็มหลุม โดยให้สูงกว่าปากหลุมประมาณ 15-20 เซนติเมตร

การชักนำการออกดอก

การชักนำการออกดอกของลิ้นจี่ ในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้าน สภาพแวดล้อมในแต่ละปี ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ แต่อย่างไรก็ตามมี ผู้เสนอแนวทางในการควบคุมการออกดอก ไว้ดังนี้ คือ
            1. การคัดเลือกพันธุ์
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นจะเห็นว่าพันธุ์แต่ละพันธุ์มีความยากง่ายในการออกดอกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นไม่มาก และมีช่วงหนาวเย็นสั้นควรปลูกพันธุ์ภาคกลาง เช่น พันธุ์ค่อม พันธุ์สำเภาแก้ว พันธุ์ทิพย์ พันธุ์จีน เป็นต้น พันธุ์ดังกล่าวจะออกดอกได้ง่าย ส่วนพันธุ์ทางภาคเหนือที่ออกดอกง่ายได้แก่ พันธุ์กิมจี๊ พันธุ์ฮงฮวย สำหรับพันธุ์ที่ออกดอกยาก เช่น พันธุ์ โอเฮียะ และกิมเจง ควรเลือกปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นมากๆ และยาวนานจึงจะออกดอกได้ดี นอกจากการคัดเลือกพันธุ์แล้วควรเลือกกิ่งพันธุ์จากต้นที่มีประวัติการออกดอกติดผลสม่ำเสมอไปปลูก
            2. การควั่นกิ่ง
การควั่นกิ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ยับยั้งการแตกใบอ่อน ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการออกดอกของลิ้นจี่ได้ ระยะใบที่เหมาะสมต่อการควั่นกิ่งนั้นควรอยู่ในระยะใบแก่ ต้นลิ้นจี่ที่ควั่นกิ่งต้องสมบูรณ์ การควั่นกิ่งควรทำในเดือนตุลาคม โดยควั่นกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 12 เซนติเมตร ขนาดของรอยควั่นกว้าง 1-1.5 มิลลิเมตรลึกเข้าไปถึงเนื้อเยื่อ การควั่นกิ่งจะประสบผลสำเร็จจะต้องมีอุณหภูมิต่ำร่วมด้วย
            3. การงดการให้น้ำ
โดยงดการให้น้ำก่อนการออกดอกประมาณ 2 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นจี่แตกใบอ่อน แต่วิธีนี้บางครั้งอาจไม่ได้ผลเนื่องจากมักมีฝนหลงฤดูตกในช่วงฤดูหนาวทำให้ลิ้นจี่แตกใบอ่อน
            4. การปลิดยอดอ่อนที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว
ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งตรงกับปลายเดือนพฤศจิกายน จะมีฝนตกแทบทุกปี และมักจะตกปริมาณมาก ทำให้ลิ้นจี่ที่ขาดน้ำมานาน ดูดน้ำฝนเข้าไปเต็มที่ จึงแตกยอดอ่อนในช่วงต้นถึงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งใบชุดนี้จะยังแก่ไม่ทันที่อากาศหนาวจัดจะมาถึงในช่วงปลายธันวาคมถึงต้นมกราคม ทำให้ลิ้นจี่ไม่สามารถออกดอกในปีนั้นได้ ดังนั้นการทำลายยอดอ่อนจึงเป็นการสร้างโอกาสให้ลิ้นจี่ออกดอกได้มากขึ้น ซึ่งอาจทำได้โดยใช้มือปลิด หรือใช้สารเอทธิฟอนความเข้มข้น 400 ส่วนต่อล้าน (ppm) ฉีดพ่น

 

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยต้นลิ้นจี่แบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงคือ ช่วงต้นเล็กก่อนให้ผลผลิตและช่วงให้ผลผลิตแล้ว การให้ปุ๋ยแต่ละช่วงมีเป้าหมายต่างกัน ทำให้ต้องใช้สูตรปุ๋ย อัตราปุ๋ยและเวลาให้แตกต่างกัน
1. เกษตรกรควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูก เพื่อปรับปรุงดินให้เหมาะสม และเพื่อการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง
2. กรณีที่ปลูกลิ้นจี่แล้ว ควรเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้ทราบว่าการปรับปรุงดินและการใส่ปุ๋ย ในแต่ละปีทำให้ดินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ควรคัดปรับปรุงหรือใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมอย่างไร
3. การให้ปุ๋ยลิ้นจี่ที่ให้รวบรัดแล้ว ควรคำนึงถึงปริมาณเป็นหลักในการใส่ปุ๋ย และควรพิจารณาปริมาณธาตุอาหารที่คงเหลืออยู่ในดินประกอบด้วย
4. เกษตรกรควรมีการเก็บตัวอย่างใบวิเคราะห์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เมื่อในชุดที่ 1 อายุ 45-50 วัน และก่อนยึดช่อดอก
5. การใส่ปูนโคโลไมท์ จะใส่เฉพาะในดินที่เป็นกรด และมีแมกนีเซียมในดินต่ำ
6. ดินที่มี pH เป็นกรดระดับเดียวกัน ต้องการปูนสะเทินความเป็นกรดไม่เท่ากัน ถ้าเนื้อดินต่างกัน
7. ไม่ควรแนะนำให้ใส่ปูน และปุ๋ยก่อนทราบค่าวิเคราะห์ดิน เพราะอันตรายมาก ถ้าดินเสียแล้วจะแก้ไขยาก

การให้น้ำ

การให้น้ำแก่ต้นลิ้นจี่ปลูกใหม่ในระยะ 2 ปีแรก โดยทั่วไปแล้วปริมาณน้ำที่ต้องรดให้แก่ต้นไม้ที่ปลูก ในปีแรกและปีที่ 2 ประมาณ 20-60 ลิตร ต่อระยะ 4-5 วัน (รดให้ดินเปียกน้ำกว้าง 0.5 และ 1.0 เมตร)

การให้น้ำแก่ลิ้นจี่อายุ 
ปีขึ้นไป

วิธีการให้น้ำแก่ผิวดิน

การให้น้ำโดยทางผิวดิน เป็นการให้น้ำครั้งหนึ่งๆเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ดินที่ความลึกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร อุ้มน้ำไว้ให้มากที่สุด ให้พืชค่อยๆใช้ได้หลายวัน โดยปริมาณน้ำที่ให้จึงขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่มและน้ำที่พืชใช้ประโยชน์ได้
น้ำที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกันไปตามความหยาบละเอียดของดิน โดยทั่วไปแล้ว การให้น้ำทางผิวดินที่ง่ายที่สุด คือ การไขน้ำเข้าท่วมขังในพื้นที่ทั้งสวน ให้น้ำสูงเท่ากับความลึกที่ต้องการ การที่จะทำเช่นนี้ได้ พื้นที่สวนต้องราบเรียบเสมอกันทั้งสวน ถ้าสวนไม่ราบเรียบเสมอกันทั้งสวน ให้ทำคันดินรอบทรงพุ่มของต้นลิ้นจี่แต่ละต้น แล้วไขน้ำเข้าขังในคันให้สูงตามต้องการ

การให้น้ำโดยสปริงเกอร์และสปริงเกอร์เล็ก

การเลือกหัวสปริงเกอร์ ต้องคำนึงถึงอัตราการซึมน้ำของดินอีกด้วย โดยต้องเลือกสปริงเกอร์ที่ให้น้ำด้วยอัตราที่ไม่เร็วกว่าที่น้ำจะซึมเข้าในดินได้ ไม่เช่นนั้นจะมีน้ำไหลล้นออกนอกทรงพุ่ม เป็นการสูญเสียน้ำ เนื่องจากการให้น้ำโดยสปริงเกอร์และมินิสปริงเกอร์สามารถทำได้สะดวก เกษตรกรสามารถให้น้ำเป็นราย 3 วัน หรือราย 7 วัน ได้โดยง่าย ดังนั้นเกษตรกรสามารถเลือกให้น้ำทุก 5-7 วัน แล้วแต่เนื้อดิน ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายให้ทุก 5 วัน ถ้าเป็นดินเหนียวให้ทุก 7วัน เป็นต้น

การตัดแต่งกิ่ง


การควบคุมทรงต้นลิ้นจี่ต้นเล็ก

ควรจะเริ่มตั้งแต่การเลือกต้นกล้ากิ่งตอนจากกิ่งกระโดงน้ำฝน หรือต้นกล้าที่ได้จากการติดตา ต่อกิ่ง หรือต่อยอด มีหลักปฏิบัติดังนี้
1. หลังจากปลูกเลี้ยงต้นกล้าให้ความสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร จึงตัดยอดเพื่อสร้างกิ่งข้าง
2. รอจนแตกตาข้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ให้เลือกกิ่งที่ทำมุมกว้างกับลำต้นไว้ 3-4 ยอดรอบๆ ลำต้น แล้วจึงตัดปลายยอดออก ให้เหลือความยาวกิ่งประมาณ 50 เซนติเมตร ปล่อยไว้แตกกิ่งแขนงโดยรอบยาวประมาณ 50 เซนติเมตร โดยเลือกกิ่งทำมุมกว้างกับกิ่งหลัก 3-4 กิ่งตัดปลายยอดออก ให้เหลือความยาวกิ่งประมาณ 50 เซนติเมตรเช่นกัน โดยถือปฏิบัติเช่นนี้ จนต้นลิ้นจี่มีอายุ 3-4 ปี จึงปล่อยให้ต้นลิ้นจี่ออกดอกติดผล
3. วิธีการนี้จะลดปัญหาเรื่องการใช้ไม้ค้ำยันให้กับต้นลิ้นจี่ได้อย่างดียิ่ง

การควบคุมทรงต้นและการตัดแต่งกิ่งลิ้นจี่ต้นใหญ่

1. การตัดกิ่งในทรงพุ่ม
2. การตัดกิ่งเพื่อเปิดกลางทรงพุ่ม จนแสงแดดสามารถส่องผ่านลงถึงโคนต้น
3. การตัดยอดลิ้นจี่เพื่อควบคุมความสูง
4. การตัดยอดหรือกิ่งลิ้นจี่ที่ประสานกันจนไม่สามารถจะออกดอกติดผลได้

การจัดการวัชพืช
การจัดการวัชพืชในสวนลิ้นจี่นั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุหรือขนาดของลิ้นจี่ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ลิ้นจี่เล็กและลิ้นจี่ใหญ่

1. 
การกำจัดวัชพืชรอบโคนลิ้นจี่เล็ก
วิธีการใช้จอบถากนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้รัศมีรอบโคนห่างนัก เพียงแต่ถากวัชพืชให้กว้างออกจากโคนต้นพอประมาณ ที่จะใส่ปุ๋ย ให้น้ำได้ เมื่อถากเสร็จอาจใช้เศษวัชพืชเหล่านั้นหรือวัสดุอื่น ๆ เช่น ฟางข้าวมาคลุมรอบโคนซึ่งช่วยป้องกันการขึ้นของวัชพืชที่จะงอกออกมาใหม่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยรักษาความชื้นในดินด้วย การถากด้วยจอบในการกำจัดรอบโคนนี้ อาจให้รัศมีความกว้างออกจากโคนต้นประมาณ 1 เมตรขึ้นไป และเมื่อต้นใหญ่ขึ้นก็ต้องขยายออกไปตามขนาดของทรงพุ่ม

2. 
การจัดการวัชพืชในลิ้นจี่ใหญ่ ทำได้หลายแบบดังนี้
1. การใช้รถตัดหญ้า เป็นวิธีการได้ผลเร็ว ปลอดภัยต่อลิ้นจี่
2. การใช้สารกำจัดวัชพืช ในกรณีที่มีวัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคาขึ้นในระหว่างแถวปลูก

 

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ลิ้นจี่จัดเป็นไม้ผลประเภท non-climacteric หลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพผลผลิต ในทางที่ดีขึ้น และ เอธิลีนไม่มีผลต่อการสุกหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า เป็นผลไม้ที่ไม่สามารถบ่มให้สุกได้ ดังนั้นการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่จึงควรเก็บเกี่ยวในระยะผลแก่พอดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
โดยทั่วไปเกษตรกรจะใช้การเปลี่ยนสีของเปลือกเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจว่าจะเก็บเกี่ยวผลลิ้นจี่ ได้หรือไม่ โดยจะสังเกตจากเปลือกของลิ้นจี่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวอมชมพู สีชมพูหรือสีแดง เกณฑ์การเปลี่ยนสีดังกล่าวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สภาพแวดล้อม และการดูแลรักษา อีกลักษณะที่ใช้ประกอบในการตัดสินใจ คือการดูหนามของผล โดยมีเกณฑ์ว่าลิ้นจี่ที่มีผลแก่ หนามบนผิวเปลือกจะห่างออกจากกัน ลักษณะที่เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสุกแก่ของลิ้นจี่เหล่านี้ เกษตรกรที่ใช้จะต้องเป็นผู้ชำนาญการพอสม ควรไม่อย่างนั้นอาจจะตัดสินใจคลาดเคลื่อนไปได้

วิธีการเก็บเกี่ยว
วิธีการเก็บเกี่ยวทำโดยใช้พะองพาดบนต้น แล้วหักกิ่งเพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งพวงและมีใบติดมาบ้างเล็กน้อย ลิ้นจี่ที่เก็บเกี่ยวแล้วจะนำมาตกแต่งช่อ คัดเกรดและบรรจุ ซึ่งอาจจะทำอยู่ภายใต้ร่มไม้ส่วนใดส่วนหนึ่ง ของสวนก็ได้
วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
การลดอุณหภูมิผล
การลดอุณหภูมิผลจะช่วยลดการคายน้ำของผล ทำให้ผลลิ้นจี่มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น
มีการรายงานว่าถ้าลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วให้อยู่ที่ 3 องศาเซลเซียสแล้วเก็บรักษาไว้ที่ 5 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลลิ้นจี่มีการสูญเสียน้ำน้อยและถูกโรคเข้าทำลายได้ยากขึ้น
วิธีการลดอุณหภูมิของผลอย่างรวดเร็ว อาจจะทำได้โดยการใช้ลมเย็นผ่านผลอย่างรวดเร็ว (Force-air Cooling) แต่วิธีนี้มักทำให้ผลสูญเสียน้ำหนักไปบ้าง เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศจะค่อนข้างต่ำ ทำให้มีการคายน้ำจากผลเข้าสู่บรรยากาศ
อีกวิธีที่แนะนำคือ การจุ่มผลลิ้นจี่ในน้ำเย็นหรือน้ำที่ผสมน้ำแข็ง (Hydro Cooling) จะช่วยลดอุณหภูมิผลได้อย่างรวดเร็วและผลไม่สูญเสียน้ำหนักในระหว่างการลดอุณหภูมิผล แต่ต้องระวังรอให้ผลแห้งก่อนการบรรจุ มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่ายการสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว
การสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลิ้นจี่เกิดขึ้นเร็วมาก โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสีผิวของเปลือก ซึ่งจะเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียน้ำของเปลือก และการเปลี่ยนแปลงของ สารประกอบพวกฟีนอลภายในเปลือก มีรายงานว่าเปลือกของลิ้นจี่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งภายใน 2-3 วัน หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ที่แนะนำให้เก็บรักษาลิ้นจี่อยู่ระหว่าง 0-5 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเก็บรักษา ถ้าต้องการเก็บรักษาเป็นระยะเวลานาน เช่น 3 สัปดาห์ ควรเก็บไว้อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้โดยที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 มีรายงานว่าการรมควันด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ นาน 25 นาที แล้วนำไปแช่ในสารละลายกรดไฮโดรคลอริก ความเข้มข้น 1.0 n นาน 15 นาที ก่อนที่จะนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส จะสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลิ้นจี่ไว้ได้นานถึง 7 สัปดาห์ โดยไม่มีการเปลี่ยนสีผิวของเปลือกลิ้นจี่

การป้องกันการเกิดสีน้ำตาล บนเปลือกลิ้นจี่โดยการเคลือบไข
ไม่สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลิ้นจี่ได้ เนื่องจากผิวเปลือกลิ้นจี่ขรุขระ ไม่ราบเรียบทำให้ไม่สามารถเคลือบผลได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงไม่สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำของผล ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวเปลือกลิ้นจี่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและหมดอายุการใช้งาน

Related posts

การผลิตข้าวโพดหลังนา

Kaset Pro
2 years ago

น่าจะรู้นานแล้ว!! บำรุงใบเหลืองต้นโทรม ด้วยของใกล้ตัว

Smile Smile
4 years ago

ตอนกิ่งมะนาว เป็นทุกต้น ปลูกขึ้นทุกกิ่ง

Smile Smile
4 years ago
Exit mobile version