ที่มารูปภาพ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในปัจจุบันแมลง เป็นอาหารประเภทแหล่งโปรตีนชนิดใหม่ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ(FAO) ยอมรับและส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลกหันมาบริโภคเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนทั้งอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์
แมลงจึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตแมลงในไทยโดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมตั้งโรงงานแปรรูปจิ้งหรีดส่งออกไปต่างประเทศ อาทิสหภาพยุโรป (EU) จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรหลังช่วงทำนาหรือระหว่างฤดูแล้ง
ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีความชำนาญ ในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในเชิงพาณิชย์โดยมีฟาร์มจิ้งหรีด ประมาณ 20,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์และมหาสารคาม สำหรับพันธุ์จิ้งหรีดที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงมี 3 สายพันธุ์ได้แก่ พันธุ์สะดิ้ง ทองดำ และจิ้งหรีดขาว โดยมีกำลังผลิตสูงถึง 7,500 ตัน/ปีคิดเป็นมูลค่าจิ้งหรีดสดกว่า 750 ล้านบาท
จิ้งหรีด เดิมนั้นเป็นแมลงที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ แต่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีนถึง 12.9% ไขมัน 5.54% และคาร์โบไฮเดรต 5.1% เป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ให้ผลผลิตสูง แม่พันธุ์ 1 ตัว ให้ลูกถึง 1,000 ตัว รวมถึงใช้พื้นที่และปริมาณน้ำในการเลี้ยงน้อย ทั้งยังไม่ต้องใช้เทคโนโลยี และต้นทุนในการเลี้ยงที่สูง จิ้งหรีดจึงเหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งหรือเขตชนบทโดยภายในเวลา 1 ปี จะเลี้ยงจิ้งหรีดได้ 7-8 รุ่นต่อปี
วิธีการเลี้ยงก็แสนง่าย เพียงแค่ทำบ่อขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตรครึ่ง สูง 70 เซนติเมตร ลงทุนบ่อละประมาณ 700 บาท เพียงเท่านี้ก็สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้แล้ว โดยอาหารเลี้ยงจิ้งหรีด มักจะให้อาหารไก่เล็กผสมกับหยวกกล้วย ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย เพียงเท่านี้ก็เป็นอาหารชั้นดี ทำให้จิ้งหรีดโตเร็วและลดต้นทุน เพียง 30 วัน ก็สามารถจับขายได้แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถเพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงใช้เป็นอาหารสัตว์ ได้อีกด้วย ถือว่ามีช่องทางการสร้างรายได้ ได้หลากหลายช่องทาง