การปลูกพืชคลุมดินในสวนยาง เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในสวนยาง ทั้งนี้เศษซากพืชคลุมดินเมื่อย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์วัตถุจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ช่วยปรับโครงสร้างดินและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งผลให้การเจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็วขึ้นและให้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้นด้วย การปลูกพืชคลุมดินไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รักษาความชื้นในดิน ควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดวัชพืช ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ได้แก่ จุลินทรีย์ เช่น เชื้อรา และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น มด แมลง หนอน ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ และยังช่วยเพิ่มฮิวมัสให้แก่ดินอีกด้วย
ซีรูเลียมพืชคลุมดิน
อีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร
ซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินตระกลูถั่ว อายุข้ามปีและเป็นพืชวันสั้น มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ รากจะมีปมตรึงไนโตรเจนจากอากาศ สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของลำต้นเป็นเถาเลื้อยแข็งแรง เห็นขนไม่ชัด ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันคล้ายใบโพธิ์ ใบค่อนข้างหนา ดอกเป็นช่อสีม่วง ซีรูเลียมจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฝักจะมีลักษณะแบนยาวมีสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่ ฝักจะแตกออกมาเองเมื่อแห้งจัด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา เมล็ดมีสีเหลืองจนถึงน้ำตาล ผิวเรียบเป็นมัน น้ำหนัก 1 ก.ก. จะมีเมล็ดประมาณ 28,420 เมล็ด ระบบรากมีทั้งรากแก้วและรากฝอย
ซีรูเลียม มหัศจรรย์พืชคลุมดินในสวนยาง
พืชคลุมดินซีรูเลียม มีการนำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย ในปี 2519 จนถึงปัจจุบัน จากการทดลองปลูกปรากฏว่าควบคุมวัชพืชได้ดี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุอาหารในดิน ช่วยลดปัญหาการเกิดไฟไหม้ในสวนยาง และยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ
สามารถควบคุมวัชพืชได้ดี
จากการทดลองปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวต้นยางและไม้ผล พบว่า เมื่อพืชคลุมซีรูเลียมเจริญเติบโตเต็มที่จะคลุมดินได้หนาแน่นจนวัชพืชอื่นไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และยังสามารถควบคุมวัชพืชในระหว่างแถวยางและไม้ผลได้ถาวรตลอดไป เมื่อเปรียบเทียบกับพืชคลุมดินชนิดอื่นๆ พบว่า พืชคลุมดินซีรูเลียมสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีที่สุด ดังนั้นซีรูเลียมจะประหยัดในการจ้างแรงงานกำจัดวัชพืช ช่วยลดการใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชในสวนยาง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัวด้วย
ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง และร่มเงา
พืชคลุมดินโดยทั่วไปไม่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง พืชคลุมดินจะแห้งตายในฤดูร้อน ซากกองพืชคลุมจะเป็นเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดไฟไหม้สวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และสวนไม้ผลที่ปลูกพืชคลุมเหล่านี้
จากการศึกษาและประสบการณ์ในการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวยางและไม้ผล พบว่า พืชคลุมซีรูเลียมมีอายุยืนยาว และมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี พืชคลุมโดยทั่วไปไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงา โดยปกติพืชคลุมจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อปลูกในระหว่างแถวยางที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ เมื่อต้นยางเจริญเติบโตมีร่มเงาเกิดขึ้นในระหว่างแถวพืชคลุมอื่นมักจะตายหรือเจริญเติบโตไม่ดี แต่พืชคลุมซีรูเลียมไม่ตายและยังคงสามารถเจริญเติบโตและควบคุมวัชพืชได้ดีในสภาพร่มเงา สามารถคลุมพื้นที่ได้ภายใน 4-6 เดือน ขณะเดียวกันก็เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สวนยางพาราจากการที่ปมรากจะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และการย่อยสลายตัวของเศษซากพืชคลุม
ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมเปิดกรีดยางได้เร็วขึ้น
จากการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของต้นยางในแปลงที่มีพืชคลุมตระกูลถั่วและแปลงหญ้าคา ในสวนยางที่ปลูกพืชตระกูลถั่วจะมีการเจริญเติบโตเป็นสองเท่าของสวนยางที่มีหญ้าคาปกคลุม และสามารถเปิดกรีดยางภายใน 6-7 ปี และกรีดยางได้ก่อนสวนยางที่มีหญ้าคาขึ้นปกคลุมประมาณ 3-4 ปี
การทดสอบการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในแปลงเอกชนที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ปรากฏว่า สามารถเปิดกรีดยางได้ก่อนแปลงของเกษตรกรที่ไม่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมประมาณ 1 ปี และผลผลิตในแปลงที่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมให้ปริมาณน้ำยางที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียม
ระบบรากฝอยหนาแน่นป้องกันการพังทลายหน้าดิน
โดยปกติฝนตกในบริเวณสวนยาง ทรงพุ่มต้นยางจะช่วยซับและรับปริมาณน้ำฝนส่วนหนึ่งไว้ที่ใบ น้ำฝนบางส่วนจะระเหยก่อนลงสู่พื้นดิน บางสวนจะไหลลงมาตามลำต้น และบางส่วนจะตกผ่านทรงพุ่มลงสู่พื้นดิน การปลูกซีรูเลียมในระหว่างแถวยางจะช่วยรับน้ำที่ผ่านทรงพุ่มชั้นหนึ่งก่อนลงสู่พื้นดิน เนื่องจากพืชคลุมซีรูเลียมมีคุณสมบัติคลุมอย่างถาวร มีพื้นที่ใบคลุมดินหนาแน่น ซากพืชซีรูเลียมที่แห้งตายถูกปลดปล่อยลงไปช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยในการดูดซับและเก็บกักน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้รากฝอยที่หนาแน่นของซีรูเลียมจะช่วยยึดอนุภาคและโครงสร้างของดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้ดีขึ้น
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียม
จากคุณสมบัติที่ดีกว่าพืชคลุมดินอื่นๆ ซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินที่เหมาะสมที่จะปลูกในสวนยางพาราในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ (ปีที่ 1-6) เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมจึงเป็นที่ต้องการของเกษตรกรชาวสวนยาง แต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับช่วงแสงและอากาศ ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและมีราคาสูง
เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมค่อนข้างจะได้ผลดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สถาบันวิจัยยางจึงได้เริ่มโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมขึ้นในปี 2554 เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเมล็ดพันธุ์และทำการผลิตพันธุ์ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมอบให้ศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรทั่วประเทศ ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมเพื่อสนองความต้องการเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร
ศูนย์เรียนรู้ยางพาราฯ โดยการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดของการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมในปี 2554 การผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ
1.เมล็ดจะมีความงอกต่ำ เนื่องจากสารที่เปลือกหุ้มเมล็ดบางชนิดไม่ยอมให้น้ำและอากาศผ่าน
2.เปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดน้อย ซึ่งเกี่ยวกับช่วงแสงในแต่ละพื้นที่ และความต้องการอากาศที่เย็นในช่วงการออกดอก ทำให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีราคาสูงถึง กก.ละ 500-700 บาท
จากการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดดังกล่าว เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ได้ผลผลิตประมาณ 40 กก./ไร่
การขยายพันธุ์ซีรูเลียมระดับเกษตรกร
การขยายพันธุ์ซีรูเลียม ถ้าเราปลูกคลุมดินในสวนยาง ธรรมดาก็จะออกดอกและติดฝัก แต่ติดไม่มากเมื่อเราปล่อยให้เลื้อยไปตามพื้นดิน ซีรูเลียมจะเจริญเติบโตทางด้านลำต้นมากกว่าที่จะไปผลิตดอกออกฝัก แต่ถ้าเราต้องการขยายพันธุ์ เราก็ต้องทำค้างเหมือนกับค้างถั่วหรือค้างผัก จะทำให้ติดฝักได้มาก ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีได้ทดลองปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์โดยขึ้นค้าง จะได้เมล็ด 50 กก./ไร่ ดังนั้นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดสามารถเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกและติดเมล็ดได้ดีกว่าขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำลำต้น
………………………..
Related posts