ต้นดอกหน้าวัว (Anthurium andraeanum Lind) มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอเมริกาใต้ โดยดอกหน้าวัวจะมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย มีอายุ 5-8 ปี เจริญเป็นกอ และแตกหน่อ ลำต้นมีข้อสั้นๆ เมื่อลำต้นสูง รากจะลอยตามข้อ ทำหน้าที่ดูดน้ำ และความชื้นในอากาศ ใบมีลักษณะเรียวรี คล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลมยาว เส้นใบเป็นร่างแห ใบจะแตกออกเหนือก้านใบบริเวณข้อ ใบแก่จะทิ้งลงด้านล่างทำให้เกิดเป็นทรงพุ่ม ดอกหน้าวัวนั้นมีหลากหลายสี และมีสีสันสดใส ไม่เหี่ยวง่าย เมื่อตัดมาจำหน่าย สามารถประดับได้ 15-20 วัน จึงทำให้เป็นที่ต้องการอย่างมากในท้องตลาดภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ
การขยายพันธุ์
1. การปักชำ
เป็นวิธีที่ใช้การตัดยอดหรือการตัดต้นที่มีลักษณะลำต้นสูงหรือตัดแยกต้นที่มีหน่อเยอะแยกออกมาชำปลูกเพื่อขยายต้นใหม่ ต้นหรือยอดที่ตัดหากมีรากลอยติดมาด้วยยิ่งเป็นการดีที่สุด เพราะจะทำให้การปักชำนั้นติดง่าย และเร็วขึ้น
2. การแยกหน่อ
เป็นวิธีที่ใช้วิธีการแยกหน่อจากต้นแม่ โดยคัดเลือกหน่อใหม่ที่มีราก 3-5 ราก ติดมาด้วย แล้วแยกปลูกในกระถางใหม่
3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถือเป็นวิธีที่ต้องใช้ต้นทุนสูง และต้องมีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะที่ต้องทำในห้องปฎิบัติการ ด้วยการนำส่วนต่างของดอกหน้าวัว เช่น ตา ข้อ ปล้อง ใบ ดอก มาเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ภายใต้ภาวะปลอดเชื้อ และควบคุมอุณหภูมิ และแสงในห้องปฏิบัติการวิธีนี้มีความสำคัญสำหรับพันธุ์พืชที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์
การปลูกดอกหน้าวัว
1. สำหรับค้าขาย
การปลูกเพื่อการค้ามักปลูกในโรงเรือนที่มีพื้นที่มาก โรงเรือนอาจทำด้วยไม่ไผ่หรือโครงเหล็ก ด้านบนขึงด้วยผ้าสแลนสีดำหรือสีเขียว 2 ชั้น สำหรับบังแดดให้แดดส่องพอพรางๆ โดยมีวิธีการปลูก 2 แบบ
1.การเตรียมดินแบบปลูกลงแปลง
วิธีการปลูกในแปลงเป็นวิธีที่นิยมสำหรับการปลูกเพื่อตัดดอกจำหน่าย และการขยายพันธ์ โดยจะเตรียมแปลงในโรงเรือนด้วยการยกร่องแปลงสูง 20-30 ซม. หรือกั้นแปลงด้วยอิฐบล็อกสูง 2 ก้อนอิฐ หรือ ประมาณ 30-40 ซม. ดินที่ใช้ควรเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ อาจเป็นดินร่วน ดินร่วนปนดินเหนียว พร้อมผสมดินกับปุ๋ยคอก และเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น เศษใบไม้ ขี้เถ้า แกลบ ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วนดินต่อวัสดุอินทรีย์ 2:1 หรือ 1:1 ขึ้นอยู่กับเงินทุน
2. การเตรียมดินปลูกลงกระถาง
การเตรียมดินสำหรับการปลูกด้วยกระถางถือเป็นวิธีค่อนข้างนิยมสำหรับปลูกเพื่อเลี้ยงให้ต้นโตเพื่อการจำหน่ายต้นพร้อมกระถาง ดินที่ใช้ให้ผสมกับปุ๋ยคอกหรือวัสดุทางการเกษตรต่างที่กล่าวข้างต้น ในอัตราส่วน 1:1
วิธีการปลูก
- การปลูกในแปลง ควรใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือหากหาไม่ได้จริงๆก็ใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการชำหรือจากการแยกเหง้า ปลูกในระยะ 30×30 หรือ 30×40 ซม.
- การปลูกในกระถางจะใช้ต้นพันธุ์ในลักษณะเดียวกัน เพียง 1-2 ต้น/กระถาง และกระถางที่ใช้ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างต้นของกระถางเพียงพอ
การดูแลรักษา
การให้น้ำ ดอกหน้าวัวเป็นพืชที่ต้องการความชื้นตลอดจึงต้องให้อย่างสม่ำเสมอ น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด หากเป็นน้ำคลองควรทำการพักน้ำในบ่อพักเพื่อตกตะกอนเสียก่อน การให้น้ำแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- การให้น้ำบริเวณโคนต้น โดยอาจให้ด้วยระบบน้ำหยดหรือระบบสปริงเกอร์ในระดับโคนต้น วันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น
- การให้น้ำเพื่อรักษาความชื้น จะให้เป็นระบบสปิงเกอร์ด้านบนยอดของต้นไม้ เพื่อให้รักษาความชื้น และให้ความเย็นแก่บริเวณโดยรอบ
การใส่ปุ๋ย จะให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำจะได้ผลที่สุด ด้วยการละลายปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราส่วน 30 กก./ไร่ ทุกๆ 3 เดือน ในระยะก่อนออกดอก และในระยะที่เริ่มให้ผลผลิตควรใช้สูตร 12-12-24 ในอัตราเท่ากัน
แหล่งที่มา
ขอขอบคุณ : เทคโนโลยีชาวบ้าน / ดอกหน้าวัว
Related posts