กำเนิดดิน
ดินเกิดมาจากการสลายตัวผุพังของหินและแร่ (อนินทรีย์สาร inorganic material) รวมกับซากพืชและสัตว์ที่ตายเน่าเปื่อย (อินทรีย์สาร : organic material) คลุกเคล้าเข้าด้วยกันโดยมีกระบวนการ ทางธรรมชาติคอยควบคุมการเกิดดินให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องติดต่อกันโดยตลอด การสลายตัวผุพังของวัตถุต้นกำเนิดดินที่เป็นอนินทรีย์สารเกิดจากกระบวนการทางด้านกายภาพ (physical process) เช่น การเกิดแรงดึงและแรงดันของพื้นผิวโลก ทำให้หินแร่แตกหัก หรือการกัดเซาะของน้ำและลม ทำให้หินแร่ผุกร่อนแตกหักได้ เป็นต้น กระบวนการทางเคมี (chemical process) เช่น การทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างน้ำกับแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างเช่น ปฏิกริยาไฮโดรไลซีส (hydrolysis) ปฏิกริยาไฮเดรชั่น (hydration) หรือการทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างอากาศกับแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างเช่น ปฏิกริยาออกซิเดชั่น (oxydation) ปฏิกริยาคาร์บอเนชั่น (carbonation) เป็นต้น
และกระบวนการทางด้านชีวภาพ (biological process) โดยจุลินทรีย์ที่มีชีวิตเล็ก ๆ ช่วยย่อยสลายวัตถุต้นกำเนิดดินให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นอนุภาคเล็ก ๆ การสร้างตัวของดิน เริ่มจากการทับถมของวัตถุต้นกำเนิดดินที่เป็นเศษหินและแร่ธาตุต่าง ๆ ได้เป็นชั้นดินที่เรียกว่าชั้นกำเนิดดิน หรือชั้นดิน C แล้วมีการผสมคลุกเคล้ากับสารอินทรีย์ที่ถูกทำให้สลายตัว ทำให้ลักษณะของดินชั้นนั้นค่อยเปลี่ยนแปลงไปโดยมีการผสมของอินทรีย์สารเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นดินชั้นใหม่เรียกว่าดินชั้นบน หรือชั้นดิน A ซึ่งจะมีกิจกรรมของจุลินทรีย์และสิ่งที่มีชีวิตในดินมากขึ้น หลังจากนั้นกระบวนการสร้างดินยังคงดำเนินการต่อไปอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดลักษณะของดินใหม่ ๆ จนกลายเป็นดินชั้นใหม่ เรียงกันไปตามลำดับความลึกเป็นชั้น ๆ เรียกว่าโปรไฟล์ของดิน (soil profile)
สีของดินบอกอะไรบ้าง?
เคยสงสัยไหมว่าดินแต่ละบริเวณจะมีสีที่แตกต่างกันไป เช่น สีดำ น้ำตาล เหลือง แดง หรือ สีเทา รวมถึงจุดประสีต่าง ๆ พอจะตอบได้ดังนี้สีของดินที่ต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของแร่ที่เป็นองค์ประกอบในดิน สภาพแวดล้อมในการเกิดดิน ระยะเวลาสีของดินเป็นสมบัติของดินที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าสมบัติอื่น ๆ ดังนั้น จากสีของดิน เราสามารถที่จะประเมินสมบัติบางอย่างของดินที่เกี่ยวข้องได้ เช่น การระบายน้ำของดิน อินทรียวัตถุในดิน ระดับความความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ดินสีดำ สีน้ำตาลเข้มหรือสีคล้ำ
ส่วนใหญ่มักจะเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เนื่องจากมีการคลุกเคล้าด้วยอินทรียวัตถุมาก โดยเฉพาะดินชั้นบน แต่บางกรณี สีคล้ำของดิน อาจจะเป็นผลมาจากอิทธิพลของปัจจัยที่ควบคุมการเกิดดินอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการมีปริมาณอินทรียวัตถุในดินมากก็ได้ เช่น ดินที่พัฒนามาจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่ผุพังสลายตัวมาจากหินที่ประกอบด้วยแร่ที่มีสีเข้ม เช่น หินภูเขาไฟ และมีระยะเวลาการพัฒนาไม่นาน หรือดินมีแร่แมงกานีสสูง ก็จะให้ดินที่มีสีคล้ำได้เช่นกัน
ดินสีเหลืองหรือแดง
สีเหลืองหรือแดงของดินส่วนใหญ่จะเป็นสีออกไซด์ของเหล็กและอลูมิเนียม แสดงถึงการที่ดินมีพัฒนาการสูง ผ่านกระบวนการผุพังสลายตัวและซึมชะมานาน เป็นดินที่มีการระบายน้ำดี แต่มักจะมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินสีเหลืองแสดงว่าดินมีออกไซด์ของเหล็กที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ส่วนดินสีแดงจะเป็นดินที่ออกไซด์ของเหล็กหรืออลูมิเนียมไม่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ
ดินสีขาวหรือสีเทาอ่อน
การที่ดินมีสีอ่อน อาจจะแสดงว่าเป็นดินที่เกิดมาจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกที่สลายตัวมาจากหินที่มีแร่สีจาง เป็นองค์ประกอบอยู่มาก เช่น หินแกรนิต หรือหินทรายบางชนิด หรืออาจจะเป็นดินที่ผ่านกระบวนการชะล้างอย่างรุนแรง จนธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืชถูกซึมชะออกไปจนหมด หรือมีสีอ่อนเนื่องจากมีการสะสมปูน ยิปซัม หรือเกลือชนิดต่าง ๆ ในหน้าตัดดินมากก็ได้ ซึ่งดินเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
ดินสีเทาหรือสีน้ำเงิน
การที่ดินมีสีเทา เทาปนน้ำเงิน หรือน้ำเงิน บ่งชี้ว่าดินอยู่ในสภาวะที่มีน้ำแช่ขังเป็นเวลานาน เช่น ดินนาในพื้นที่ลุ่ม หรือดินในพื้นที่ป่าชายเลนที่มีน้ำทะเลท่วมถึงอยู่เสมอ มีสภาพการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้เกิดสารประกอบของเหล็กพวกที่มีสีเทาหรือสีน้ำเงิน แต่ถ้าดินอยู่ในสภาวะที่มีน้ำแช่ขังสลับกับแห้ง ดินจะมีสีจุดประ ซึ่งโดยทั่วไปมักปรากฏเป็นจุดประสีเหลืองหรือสีแดงบนพื้นสีเทา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารประกอบออกไซด์ของเหล็กที่สะสมอยู่ในดิน โดยสารเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปที่มีสีเทาเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีน้ำแช่ขัง ขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ๆ และเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่ให้สารสีแดงเมื่อได้รับออกซิเจน
Related posts