ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นจากการผุพังของหินและแร่ มีอินทรียวัตถุผสมคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกันเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพของมนุษย์เพราะเราได้อาศัยปลูกพืชที่เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค พืชและต้นไม้เจริญเติบโตได้เนื่องจากในดินมีธาตุอาหารมีน้ำและอากาศให้รากพืชได้หายใจ รากพืชจะดูดน้ำและธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้น รากพืชต้องมีอากาศหายใจ ดังนั้นการไถพรวนดินในการปลูกพืชก็เพื่อช่วยปรับปรุงดินให้โปร่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
ดินในบริเวณที่เปิดป่าใหม่ ๆ เป็นดินที่อุดมสมบูรณ์เนื่องจากดินชั้นบนสะสมอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืชอยู่เป็นจำนวนมาก ธาตุอาหารพืชถูกปลดปล่อยออกมาเนื่องจากการสลายตัวของอินทรียวัตถุและการผุพังของหินและแร่ในดินพืชที่ปลูกจึงงอกงามและให้ผลผลิตสูง การปลูกพืชและเก็บเกี่ยวผลิตผลจากไร่นาแต่ละครั้งเป็นการเก็บเกี่ยวธาตุอาหารหรือปุ๋ยในดินออกไปด้วยเช่นกัน การปลูกพืชติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จึงทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหารพืชรวมทั้งอินทรียวัตถุในดิน ในที่สุดจะทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลงกลายเป็นดินเลวปลูกพืชไม่ได้ผลดีอีกต่อไป ดังนั้นในการปลูกพืชจึงควรใช้ปุ๋ยปรับปรุงดินเนื่องจากปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินจะปล่อยธาตุอาหารพืชชดเชยธาตุอาหารพืชเดิมที่สูญเสียไปและยังสามารถเพิ่มเติมธาตุอาหารให้พืชเมื่อปลูกในดินที่มีธาตุอาหารไม่พอเพียง
ธาตุอาหารในดิน
ธาตุไนโตรเจน
ธาตุไนโตรเจนปกติจะมีอยู่ในอากาศในรูปของก๊าซไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก แต่ไนโตรเจนในอากาศในรูปของก๊าซนั้น พืชนำเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ (ยกเว้นพืชตระกูลถั่วเท่านั้น ที่มีระบบรากพิเศษ สามารถแปรรูปก๊าซไนโตรเจนจากอากาศ เอามาใช้ประโยชน์ได้) ธาตุไนโตรเจนที่พืชทั่วๆ ไปดึงดูดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้น จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบ เช่น แอมโมเนียมไอออน (NH4+) และไนเทรตไอออน (No3-) ธาตุไนโตรเจนในดินที่อยู่ในรูปเหล่านี้จะมาจากการสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน โดยจุลินทรีย์ในดินจะเป็นผู้ปลดปล่อยให้ นอกจากนั้นก็ได้มาจากการที่เราใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดินด้วย พืชโดยทั่วไปมีความต้องการธาตุไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก เป็นธาตุอาหารที่สำคัญมาก ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพืช พืชที่ได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอ ใบจะมีสีเขียวสด มีความแข็งแรง โตเร็ว และทำให้พืชออกดอกและผลที่สมบูรณ์ เมื่อพืชได้รับไนโตรเจนมากๆ บางครั้งก็ทำให้เกิดผลเสียได้เหมือนกัน เช่น จะทำให้พืชอวบน้ำมาก ต้นอ่อน ล้มง่าย โรคและแมลงเข้ารบกวนทำลายได้ง่าย คุณภาพ ผลิตผลของพืชบางชนิดก็จะเสียไปได้ เช่น ทำให้ ต้นมันไม่ลงหัว มีแป้งน้อย อ้อยจืด ส้มเปรี้ยว และมีกากมาก แต่บางพืชก็อาจทำให้คุณภาพดี ขึ้น โดยเฉพาะพวกผักรับประทานใบ ถ้าได้รับไนโตรเจนมากจ ะอ่อน อวบน้ำ และกรอบ ทำให้มีเส้นใยน้อย และมีน้ำหนักดี แต่ผักมักจะเน่าง่าย และแมลงชอบรบกวน พืชเมื่อขาดไนโตรเจนจะแคระแกร็น โตช้า ใบเหลือง โดยเฉพาะใบล่างๆ จะแห้ง ร่วงหล่นเร็ว ทำให้แลดูต้นโกร๋น การออกดอกออกผลจะช้า และไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ดินโดยทั่ว ๆ ไปมักจะมีไนโตรเจนไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นเวลาปลูกพืชจึงควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมี เพิ่มเติมให้กับพืชด้วย
ธาตุฟอสฟอรัส
ธาตุฟอสฟอรัสในดินมีกำเนิดมาจากการสลายตัวผุพังของแร่บางชนิดในดิน การสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน ก็จะสามารถปลดปล่อยฟอสฟอรัสออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชที่ปลูกได้ เช่นเดียวกับไนโตรเจน ดังนั้น การใช้ปุ๋ยคอก นอกจากจะได้ธาตุไนโตรเจนแล้ว ก็ยังได้ฟอสฟอรัสอีกด้วย ธาตุฟอสฟอรัสในดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบที่เรียกว่า ฟอสเฟตไอออน (H2PO4- และ HPO4-) ซึ่งจะต้องละลายอยู่ในน้ำ ในดิน สารประกอบของฟอสฟอรัสในดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ละลายน้ำยาก ดังนั้นจึงมักจะมีปัญหาเสมอว่า ดินถึงแม้จะมีฟอสฟอรัสมากก็จริง แต่พืชก็ยังขาดฟอสฟอรัส เพราะส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ ละลายน้ำยากนั่นเอง นอกจากนั้นแร่ธาตุต่างๆ ในดินชอบที่จะทำปฏิกิริยากับอนุมูลฟอสเฟตที่ ละลายน้ำได้ ดังนั้นปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้เมื่อ ใส่ลงไปในดินประมาณ 80-90% จะทำปฏิกิริยา กับแร่ธาตุในดินกลายเป็นสารประกอบที่ละลาย น้ำยากไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ ดังนั้นการ ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตจึงไม่ควรคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน เพราะยิ่งจะทำให้ปุ๋ยทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุต่างๆ ในดินได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ควรจะใส่แบบเป็นจุดหรือ โรยเป็นแถบให้ลึกลงไปในดินในบริเวณรากของพืช ปุ๋ยฟอสเฟตนี้ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกับรากก็จะไม่ เป็นอันตรายแก่รากแต่อย่างใด ปุ๋ยคอกจะช่วย ป้องกันไม่ให้ปุ๋ยฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุใน ดินและสูญเสียความเป็นประโยชน์ต่อพืชเร็วจน เกินไป พืชเมื่อขาดฟอสฟอรัสจะมีต้นแคระแกร็น ใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่างๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ รากของพืชชะงักการเจริญเติบโต พืชไม่ออกดอกและผล พืชที่ได้รับฟอสฟอรัสอย่างเพียงพอ จะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายอยู่ในดินอย่างกว้างขวาง สามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี การออกดอกออกผลจะเร็วขึ้น
ธาตุโพแทสเซียม
ธาตุโพแทสเซียมในดินที่พืชนำเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ มีกำเนิดมาจากการสลายตัวของหินและแร่มากมายหลายชนิดในดิน โพแทสเซียมที่อยู่ในรูปอนุมูลบวก หรือโพแทสเซียมไอออน (K+) เท่านั้น ที่พืชจะดึงดูดไปใช้เป็นประโยชน์ได้ ถ้าธาตุโพแทสเซียมยังคงอยู่ในรูปของสารประกอบ ยังไม่แตกตัวออกมาเป็นอนุมูลบวก (K+) พืชก็ยัง ดึงดูดไปใช้เป็นประโยชน์อะไรไม่ได้ อนุมูลโพแทสเซียมในดินอาจจะอยู่ในน้ำ ในดิน หรือดูดยึดอยู่ที่พื้นผิวของอนุภาคดินเหนียวก็ได้ ส่วนใหญ่จะดูดยึดที่พื้นผิวของอนุภาคดินเหนียว ดังนั้นดินที่มีเนื้อดินละเอียด เช่น ดินเหนียว จึงมีปริมาณของธาตุนี้สูงกว่าดินพวกเนื้อหยาบ เช่น ดินทราย และดินร่วนปนทราย ถึงแม้โพแทสเซียมไอออน จะดูดยึดอยู่ที่อนุภาคดินเหนียว รากพืชก็สามารถดึงดูดธาตุนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ๆ พอกันกับ เมื่อมันละลายอยู่ในน้ำ ในดิน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมอาจจะใส่แบบคลุกเคล้าให้เข้ากับดินก่อนปลูกพืชได้ หรือจะใส่โดยโรยบนผิวดิน แล้วพรวนกลบก็ได้ถ้าปลูกพืชไว้ก่อนแล้ว ธาตุ โพแทสเซียมมีความสำคัญในการสร้างและการ เคลื่อนย้ายอาหารพวกแป้งและน้ำตาลไปเลี้ยง ส่วนที่กำลังเติบโต และส่งไปเก็บไว้เป็นเสบียงที่ หัวหรือที่ลำต้น ดังนั้นพืชพวกอ้อย มะพร้าว และ มัน จึงต้องการโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าขาดโพแทสเซียมหัวจะลีบ มะพร้าวไม่มัน และอ้อยก็ไม่ค่อยมีน้ำตาล พืชที่ขาดโพแทสเซียมมักเหี่ยวง่าย แคระแกร็น ใบล่างเหลือง และเกิดเป็นรอยไหม้ตามขอบใบ พืชที่ปลูกในดินทรายที่เป็นกรดรุนแรงมักจะมีปัญหาขาดโพแทสเซียม แต่ถ้าปลูกในดินเหนียวมักจะมีโพแทสเซียมพอเพียง และไม่ค่อยมีปัญหาที่จะต้องใส่ปุ๋ยนี้เท่าใดนัก เนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ธาตุไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) ดินมักจะมีไม่พอ ประกอบกับพืชดึงดูดจากดินขึ้นมาใช้แต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก จึงทำให้ดินสูญเสียธาตุเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า เสียปุ๋ยในดินไปมาก ซึ่งเป็นผลทำให้ดินที่เราเรียกว่า “ดินจืด” เพื่อเป็นการปรับปรุงระดับธาตุอาหารพืช N P และ K ที่สูญเสียไป เราจึงต้องใช้ปุ๋ย เพื่อความเข้าใจเรื่องของปุ๋ย จึงใคร่ขอกล่าวถึงชนิดของปุ๋ย และหลักการใช้ปุ๋ยแต่โดยย่อ ๆ ดังนี้
มูลสัตว์ต่างๆ เช่น สุกร สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยคอกที่ดีได้ ซึ่งควรเก็บสะสมไว้ไม่ควรปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
ปุ๋ย หมายถึง สารหรือสิ่งที่เราใส่ลงไปในดิน เพื่อวัตถุประสงค์ให้ปลดปล่อยธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะพวกไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ที่พืชยังขาดอยู่ให้พืชได้รับอย่างเพียงพอ พืชสามารถเจริญเติบโตงอกงามดี และให้ผลิตผลสูงขึ้น
ปุ๋ยคอกมีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมค่อนข้างต่ำ โดยหยาบ ๆ แล้ว ก็จะมีไนโตรเจนประมาณ 0.5% N ฟอสฟอรัส 0.25% P2O5 และโพแทสเซียม 0.5% K2O ปุ๋ยขี้ไก่ และขี้เป็ด จะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าขี้หมู และขี้หมูจะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าขี้วัว และขี้ควาย ปุ๋ยคอกใหม่ ๆ จะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยคอกที่เก่าและเก็บไว้นาน ทั้งนี้เนื่องจากส่วนของปุ๋ยที่ละลายได้ง่ายจะถูกชะล้างออกไปหมด บางส่วนก็กลายเป็นก๊าซ สูญหายไป ดังนั้นการเก็บรักษาปุ๋ยคอกอย่างระมัดระวังก่อนนำไปใช้ จะช่วยรักษาคุณค่าของปุ๋ยคอก ไม่ให้เสื่อมคุณค่าอย่างรวดเร็ว
การเก็บรักษาปุ๋ยคอกอาจทำได้ เช่น นำมากองรวมกันเป็นรูปฝาชี แล้วอัดให้แน่น ถ้าอยู่ภายใต้หลังคาก็ยิ่งดี ถ้าอยู่กลางแจ้ง ควรหาจากหรือทางมะพร้าวคลุมไว้ด้วยก็จะดี ปุ๋ยคอกที่ได้มาใหม่ๆ และยังสดอยู่ ถ้าจะใส่ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตชนิดธรรมดา (20% P2O5) ลงไปด้วยสักเล็กน้อย ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียไนโตรเจน โดยการระเหิดกลายเป็นก๊าซได้เป็นอย่างดี ถ้าเลี้ยงสัตว์อยู่ในคอกควรใช้แกลบ ขี้เลื่อย หรือฟางข้าว รองพื้นคอก ให้ดูดซับปุ๋ยไว้ เมื่อฟางข้าวอิ่มตัวด้วยปุ๋ย ก็รองเพิ่มเป็นชั้นๆ เมื่อสะสมไว้มากพอ ก็ลอกเอาไปกองเก็บไว้ หรือนำไปใส่ในไร่นาโดย ตรงเลยก็ได้ อัตราปุ๋ยคอกที่ใช้นั้นไม่เคร่งครัด เหมือนกับปุ๋ยเคมี ปกติแนะนำให้ใส่อัตรา 1-4 ตันต่อไร่ โดยใส่ค่อนข้างมากในดินเหนียวจัด หรือดินทรายจัด หลังจากใส่ปุ๋ยคอกแล้วถ้ามีการ ไถหรือพรวนดินกลบลงไปในดิน ก็จะช่วยให้ปุ๋ย เป็นประโยชน์แก่พืชได้เร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยพวกนี้เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากการผลิตหรือสังเคราะห์ทางอุตสาหกรรม จากแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้ตามธรรมชาติ หรือเป็นผลพลอยได้ของโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด ปุ๋ยเคมีมีอยู่ 2 ประเภท คือ แม่ปุ๋ย หรือปุ๋ยเดี่ยวพวกหนึ่ง และปุ๋ยผสมอีกพวกหนึ่ง
หลักการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ผลดี
ปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ลงไปในดิน จะมีโอกาสสูญเสียไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียม ส่วนฟอสฟอรัสนั้น พืชดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้เพียงไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณที่ใส่ลงไปในดิน ฟอสฟอรัสที่เหลือทั้งหมด จะทำปฏิกิริยากับดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก พืชดึงดูดไปใช้ไม่ได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยลงไปในดิน เพื่อให้พืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้มากที่สุดและสูญ เสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปุ๋ย ชนิดเดียวกัน สูตรเดียวกันใส่ลงไปในดินโดยวิธี แตกต่างกัน พืชจะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้ไม่เท่ากัน อาทิ ปุ๋ยที่ใส่แบบหว่านจะให้ผลแตกต่างจากปุ๋ยที่ ใส่โรยแบบเป็นแถวหรือเป็นจุดใกล้ต้นพืช ฉะนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพจึงควรมีหลักเกณฑ์ ในการใส่ปุ๋ยที่ควรจะยึดถือเป็นแนวทางดังนี้คือ
- ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง
- ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม
- ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ
- ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด
ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง
การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องนั้น หมายถึง สูตรเรโชและรูปของธาตุอาหารในปุ๋ย ปุ๋ยเคมีจะมีทั้งสามอย่างนี้แตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวาง สูตรปุ๋ยหรือบางทีเรียกว่า “เกรดปุ๋ย” หมายถึง ตัวเลขเขียนบอกปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมีโดยบอกเป็นค่าของเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (N) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P2 O5) และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) สูตรปุ๋ยจะเขียนไว้ที่ภาชนะบรรจุปุ๋ยเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น 20-10-5 ตัวเลขแรกจะบอกปริมาณไนโตรเจนว่ามีอยู่หนัก 20 กิโลกรัม เลขที่สองบอกปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีอยู่ 10 กิโลกรัม เลขตัวที่สามบอกปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้มีอยู่ 5 กิโลกรัม รวมเป็นธาตุอาหารทั้งหมด 35 กิโลกรัมในปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม และเป็นที่ทราบกันเป็นสากลว่าเลขตัวแรก คือ ไนโตรเจน ตัวกลางคือ ฟอสฟอรัส ตัวสุดท้ายคือ โพแทสเซียม จะไม่มีการสลับที่กันจึงไม่จำเป็นต้องเขียนตัวหนังสือกำกับไว้ เมื่อดินขาดธาตุอาหาร N P และ K ชนิดของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใส่ก็จะต้องมีธาตุ N P และ K แต่ถ้าดินขาดธาตุอาหาร N และ P ส่วน K ในดินตามธรรมชาติมีเพียงพออยู่แล้ว ธาตุอาหารในปุ๋ยก็ควรจะมีแต่ N และ P เท่านั้น อาทิ ดินนาในภาคกลางซึ่งขาดแต่ N และ P เป็นส่วนใหญ่ ปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าวจึงมีแต่ N และ P เท่านั้น เช่น ปุ๋ยสูตร 18-46-0, 28-28-0, 20-20-0 และ 16-20-0 เป็นต้น
ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม
ปริมาณปุ๋ยที่พอเหมาะนี้ หมายถึง จำนวนหรืออัตราปุ๋ยที่ใช้ต่อไร่หรือต่อต้นที่พืชจะได้รับความพอเหมาะนี้มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ พอเหมาะในแง่ของปริมาณที่พืชควรจะได้รับเพื่อให้ได้ผลิตผลสูงสุดถ้าน้อยกว่านั้นก็จะทำให้พืชไม่เจริญเติบโตและให้ผลิตผลสูงเท่าที่ควรหรือถ้าให้มากเกินกว่านั้นก็อาจเป็นพิษแก่พืชหรือจะไม่ทำให้พืชเติบโตและให้ผลิตผลเพิ่มขึ้น แต่ทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งก็ คือ พอเหมาะในแง่ของหลักเศรษฐกิจ กล่าวคือปริมาณของปุ๋ยที่ใช้จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับราคาของปุ๋ยและราคาของผลิตผลที่จะขายได้เสียก่อน การใช้ปุ๋ยที่พอเหมาะในแง่นี้เป็นการใส่ปุ๋ยจำนวนหนึ่ง (ต่อไร่หรือต่อต้น) ซึ่งจะมีผลทำให้ผลิตผลสูงขึ้นที่ระดับหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตผลสูงสุด) อันจะทำให้ได้กำไรต่อเงินลงทุนในการซื้อปุ๋ยมาใช้มากที่สุด การพิจารณาความพอเหมาะพอดีของจำนวนปุ๋ยหรืออัตราปุ๋ยที่จะใช้จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ หลายประการมาประกอบการพิจารณา อาทิ ชนิดของพืช ระดับความชื้น และความอุดมสมบูรณ์เดิมของดิน วิธีการปลูก การดูแล และการบำรุงรักษาของกสิกรตลอดจนราคาของปุ๋ยและของพืชที่ปลูกประกอบด้วย
ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ
พืชที่ปลูกในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารมักจะแคระแกร็นและให้ผลิตผลต่ำ การใส่ปุ๋ยจะช่วยยกระดับธาตุอาหารที่ขาดแคลนให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินเดียวกันกับพืชชนิดเดียวกันอาจจะให้ผลแตกต่างกันได้เป็นอย่างมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา (timing) ของการให้ปุ๋ยแก่พืชนั้นตรงกับระยะเวลาที่พืชมีความต้องการธาตุอาหาร นั้น ๆ มากที่สุดหรือไม่ ช่วงจังหวะความต้องการธาตุอาหารมากที่สุดของพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไปพืชที่มีอายุสั้น เช่น พืชไร่และข้าวจะมีจังหวะการดึงดูดธาตุอาหารที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดอย่างน้อย 3 ช่วงด้วยกัน คือ
ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด
นอกจากจังหวะการใส่แล้ว วิธีการใส่เพื่อให้พืชดึงดูดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งนี้เนื่องจากในทันทีทันใดที่ปุ๋ยลงไปอยู่ในดินปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนย้ายของปุ๋ยจะเกิดขึ้นทันที
เมื่อเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ดินมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นเมื่อดินดีเราก็จะปลูกพืชได้ผลดี หากดินไม่ดีเราต้องรู้จักวิธีการปรับปรุงดิน เพื่อรักษาสภาพดินให้ดีและมีสารอาหารที่เหมาะกับพืชที่เราต้องการปลูกอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการธาตุอาหารในปุ๋ยและการใส่ปุ๋ย ในปริมาณที่พืชและดินต้องการ เพื่อรักษาความสมดุลในดินให้คงอยู่และไม่ทำให้พืชขาดสารอาหาร
Related posts