ถั่วดาวอินคา เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้มีการทำการเพาะปลูกในหลากหลายพื้นที่ เพราะถั่วดาวอินคาเป็นพืชที่มีการลงทุนในการเพาะปลูกเพียงครั้งเดียว แต่สามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 15-40 ปี จึงเป็นเหตุผลให้เกษตรกรที่สนใจในการปลูกถั่วดาวอินคามีมากขึ้น แต่วิธีการปลูกจะเป็นอย่าไรนั้น ไปดูกันเลย….
ลักษณะทั่วไป
ดาวอินคาเป็นไม้เลื้อยที่มีลำต้นสูงกว่า 2 เมตร กิ่งและยอดแผ่เลื้อยพันไปตามกิ่งไม้หรือโครงสร้างเลื้อยพันอื่น ๆ และดาวอินคายังจัดเป็นพืชที่มีอายุยืน โดยเฉลี่ยต้นดาวอินคาจะมีอายุได้นาน 10-50 ปีเลยทีเดียว
ใบดาวอินคาเป็นใบเดี่ยว ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร และมีความกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ส่วนของก้านของใบจะยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ปลายใบมีรูปทรงเรียวแหลม เรียงสลับกันเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยักเป็นรูปร่างคล้าย ๆ เลื่อย
ดอกดาวอินคาเป็นดอกช่อ ลักษณะเดียวกับช่อกระจะ ดอกดาวอินคามีการแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็ก สีออกขาว เรียงเป็นกระจุกตลอดความยาวของช่อ ส่วนดอกเพศเมียจะมีประมาณ 2 ดอกอยู่ที่โคนช่อดอก
ผลดาวอินคามีรูปร่างคล้ายดาว ลักษณะผลเป็นแบบแคปซูล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลมี 4-7 แฉก เมื่อยังโตไม่เต็มที่ ผลอ่อนดาวอินคาจะมีสีเขียว และสีจะค่อย ๆ เข้มขึ้นตามอายุ เมื่อผลแก่จะมีกลายเป็นสีน้ำตาลออกดำ มีเนื้อนุ่ม ๆ สีดำหุ้มอยู่อีกชั้น ซึ่งส่วนนี้กินไม่ได้นะคะ ซึ่งโดยปกติจะทิ้งให้ผลดาวอินคาแห้งคาต้นก่อนเก็บเกี่ยว และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะต้องนำมาตากแดดอีก 1 วัน จึงจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้
เมล็ดดาวอินคามีรูปร่างคล้ายถั่ว เมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีน้ำตาลดำ ขนาดกว้าง 1.7-1.8 เซนติเมตร น้ำหนักเมล็ดราว ๆ 1.3-1.7 กรัม ทั้งนี้เมล็ดดาวอินคาที่ยังดิบอยู่ไม่ควรนำมาบริโภค เพราะมีสารกลุ่มที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทริปซิน (trypsin inhibitor) แต่หากนำไปคั่วหรือทำให้สุกแล้วสามารถกินเมล็ดดาวอินคาได้
ขั้นตอนการปลูก
- วิธีการปลูก
- หากเป็นการเพาะด้วยเมล็ดให้นำเมล็ดไปแช่น้ำก่อนแล้วบ่มให้งอก จึงนำไปลงเพาะในถุงเพาะ หลังจากใบงอกออกมา 2 ใบ ค่อยนำไปลงปลูกที่แปลงปลูก
- หากเป็นต้นกล้าสามารถหาต้นกล้าได้ตามสวนที่มีความสมบูรณ์ และสามารถนำลงแปลงปลูกได้ทันที
- หากเป็นพื้นที่ต่ำควรจะยกร่องเล็กน้อย เพราะถั่วดาวอินคาไม่ชอบน้ำแฉะหรือน้ำขัง
- การปลูกถั่วดาวอินคาให้ขุดหลุมแล้วรองก้นด้วยปุ๋ยคอก เพราะถั่วดาวอินคาเป็นพืชสรรพคุณเพื่อสุขภาพจึงไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมี
- ระยะห่างระหว่างต้น ควรห่างประมาณ 2 เมตร และระยะระหว่างร่องหรือแปลงให้ห่างกัน 4 เมตร
- การให้น้ำ สังเกตจากความชื้นของดินไม่ให้น้ำจนแฉะ และไม่ควรทิ้งดินให้แห้งจนเกินไป
- ค้างสำหรับให้อินคาเลื้อย ใช้ท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว ยาว 2.5 เมตร เทปูนใส่ท่อพีวีซีแล้วใส่เหล็กไว้ปลายท่อ เพื่อเอาไว้คล้องกับเส้นลวดเก่า เพื่อใช้ดาวอินคาเลื้อยไปหากันได้
- การดูแลรักษา
- รดน้ำให้ความชุ่มชื้นแต่ไม่ให้แฉะ เพราะ ถั่วดาวอินคาไม่ชอบน้ำขัง
- ถั่วดาวอินคาชอบพื้นที่โปร่งและโล่ง ไม่ควรปลูกพืชอื่นร่วมด้วย
- หมั่นตัดหญ้าและนำเศษหญ้า เศษใบไม้ไปคลุมที่โคนต้นเพื่อให้เป็นปุ๋ยหมักธรรมชาติ
- ใช้น้ำหมักชีวภาพหรือฮอร์โมนที่หมักโดยไร้สารเคมี รดตรงโคนต้นเพื่อบำรุงลำต้นและราก
- การเก็บเกี่ยว
หลังจากนำต้นถั่วดาวอินคาลงแปลงปลูก ถั่วดาวอินคาจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการให้ผลผลิต และอีก 4 เดือน ลูกถั่วดาวอินคาจะแห้ง เราสามารถเก็บผลของถั่วดาวอินคาได้
- ประโยชน์ของถั่วดาวอินคา
- ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด
- ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ช่วยลดน้ำหนัก
- ช่วยบำรุงกระดูก
- ช่วยบำรุงผิวและเส้นผม
แหล่งที่มา
ขอขอบคุณ : ถั่วดาวอินคา / kapook