โรคเกาต์ (Gout) คือการอักเสบของข้อต่อที่ ทำให้เกิดความรู้สึกปวดเรื้อรังตามข้อ รวมถึงมีอาการบวมแดง โดยสาเหตุของโรคเกาต์นั้น มาจากการที่ร่างกายมีระดับของกรดยูริกในเลือดสูง โดยที่ร่างกายสร้างกรดยูริกออกมาหรือรับสารพิวรีนซึ่งจะทำให้เกิดกรดยูริกในเลือดเข้ามามากกว่าปริมาณที่ขับออกไป ทำให้มีการจับตัวเป็นผลึกของกรดยูริกสะสมอยู่ตามข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบ
โดยร่างกายสามารถสร้างกรดยูริกได้จากการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นกรดยูริกในที่สุด กรดยูริกจึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา สำหรับกรดยูริกที่สร้างขึ้นมานั้นจะมีการขับออกจากร่างกายได้ 2 ทาง คือ ทางระบบทางเดินอาหารและทางไตในรูปของปัสสาวะ นอกจากนี้ กรดยูริกยังมาจากการได้รับสารพิวรีนจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปด้วย โดยอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ปลาซาดีน ถั่ว เห็ด เนื้อแดง และผักยอดอ่อน
จนทำให้กลุ่มคนเป็นเกาต์จึงจำต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง และมีผลต่ออาการของโรค โดยบริษัทประชารัฐรักสามัคคีขอนแก่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเกษตรฯ เล็งเห็นปัญหานี้ จึงทำการจับมือกับเพื่อร่วมสร้าง ทางเลือกในการนำไก่ไปปรุงอาหาร และการรับประทานไก่ให้มากขึ้น โดยทำการผลิตลูกเจี๊ยบสายพันธุ์ “KKU 1” เอาใจกลุ่มคนเป็นเกาต์ที่ชอบรับประทานไก่ และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เสริม และเพื่อเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้เสริม ให้แก่เกษตรอย่างยั่งยืน
สำหรับไก่สายพันธุ์ “KKU 1” เดิมมีชื่อว่าไก่พันธุ์ไข่มุกอิสาน 2 ซึ่งศูนย์เครือข่ายวิจัยฯ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำ “ไก่ชี” ผสมกับไก่ทางการค้าได้ลูกออกมา จากนั้นคัดเลือก 5 ชั่วรุ่น ได้ไก่”ไข่มุกอีสาน KKU50″
ต่อมาทางศูนย์วิจัยฯได้นำมาปรับปรุงพันธ์ใหม่ โดยนำไก่”ไข่มุกอีสาน KKU50″ ไปผสมกับไก่ psbroiler ได้ลูกผสมออกมาเป็น “ไก่ KKU1”ซึ่งไก่สายพันธ์นี้มีความเป็นสายพันธุ์ไก่บ้านอยู่ถึง 25% และใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาเพื่อให้ได้ไขมันต่ำและยูริกต่ำ โดยไก่ที่เข้าสู่กระบวนการนี้จะต้องมีอายุตั้งแต่ 1 วัน ซึ่งต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 35 วัน ก็สามารถนำไปจำหน่ายได้
โดยมีลักษณะพันธุ์ที่เด่นคือมีกรดยูริคต่ำเพียง 1.91 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าไก่เนื้อทางการค้า และยังมีคอเลสเตอรอลต่ำ เนื้อแน่น แต่นุ่ม รวมไปถึงไฟเบอร์กล้ามเนื้อยังมีขนาดเล็กมากอีกด้วย จึงเหมาะกับ การบริโภคกับคนในทุกเพศทุกวัย และรวมไปถึงกลุ่มคนเป็นเกาต์ เนื่องจากไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่จะบริโภคไก่
ซึ่งปัจจุบันทางคณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยของแก่นสามารถผลิตลูกเจี๊ยบได้ 500 ตัวต่อสัปดาห์ แต่ก็คาดหวังว่าต้นปีหน้าจะสามารถผลิตลูกเจี๊ยบให้ได้ 2,000 ตัวต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับการขยายตลาด และมีแผนระยะยาวคือส่งออกต่างประเทศต่อไป
Related posts