“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์ เพราะเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แต่ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังคงผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน เช่น ข้าวสาลี และนำเข้าเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ
การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ได้ผลผลิตเต็มไร่ และคุณภาพดี เกษตรกรต้องมีความรู้ เรื่องการเพาะปลูกอย่างถูกวิธี ทั้งการจัดการดิน ปุ๋ยและน้ำ รวมทั้งการเก็บเกี่ยว หากเกษตรกรวางแผนการปลูกและบริหารจัดการแปลงอย่างเหมาะสม การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีผลผลิตมากกว่า 1 ตันต่อไร่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ขั้นตอนการปลูกและการบำรุง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”ให้ฝักโตเมล็ดเต็ม
1. การเตรียมแปลงปลูก
อีกหนึ่งหัวใจของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือการเตรียมแปลง โดยเริ่มจากการไถดะ เพื่อกำจัดวัชพืช และปรับพื้นที่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอ เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำออกจากแปลง พื้นที่ควรมีหน้าดินลึกไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร เพื่อให้รากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถเจริญเติบโต ดูดน้ำและธาตุอาหารจากหน้าดินได้ดี
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชอบดินที่มีลักษณะโปร่งและระบายน้ำดี โดยทั่วไปวิธีการเตรียมดินที่เหมาะสม เริ่มจากตากดินไว้อย่างน้อย 5 – 7 วัน เพื่อกำจัดวัชพืชและเชื้อราในดิน หลังจากนั้นจึงไถพรวนโดยใช้รถไถผาน 7 ไถย่อยดินให้ร่วนซุย พร้อมใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกร่วมด้วย อัตรา 1-2 ตันต่อไร่ เพื่อปรับสภาพและโครงสร้างของดิน เพื่อเก็บกักความชื้นในดินและให้มีสภาพเหมาะแก่การเพาะปลูก
2.การจัดการแปลงปลูก การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ทำให้ได้ผลผลิตเหมาะสม โดยทั่วไปมีการจัดการแปลงปลูก 2 รูปแบบ
- ปลูกแบบแถวเดี่ยว ให้เว้นระยะหยอดระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และปลูกระยะห่าง 20 – 25 เซนติเมตร หยอดเมล็ดข้าวโพดลง 1 – 2 เมล็ด/หลุม (จำนวนต้นต่อไร่ ประมาณ 8,500 – 10,600 ต้น จะใช้เมล็ดข้าวโพดประมาณ 3.0 – 3.5 กิโลกรัมต่อไร่
- การปลูกแบบแถวคู่ มีการยกร่องสูง เว้นระยะร่องละ 120 เซนติเมตร ปลูกเป็นสองแถว ข้างร่องเว้นระยะห่าง 30 เซนติเมตร ปลูกห่างต้นละ 20 – 25 เซนติเมตร แนะนำปลูก
1 – 2 ต้นต่อหลุม จะมีจำนวนต้นประมาณ 8,500 – 10,600 ต้นต่อไร่ และใช้เมล็ดข้าวโพดประมาณ 3.0 – 3.5 กิโลกรัมต่อไร่)
ขั้นตอนการบำรุง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ให้ผลผลิตคุณภาพ ฝักโตเมล็ดเต็ม
ปุ๋ย เป็นแหล่งธาตุอาหารที่สำคัญของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ดังนั้นเกษตรกรควรใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกเวลา ถูกวิธี และในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่ดี ฝักใหญ่ เมล็ดเต็มฝัก การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบ่งเป็น 2 ช่วง
ช่วงที่ 1 เป็นการใส่ปุ๋ยรองพื้น แนะนำปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-20-0 หรือ 16-8-8 อัตรา 30 – 50 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อช่วยให้ต้นโตไว สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นข้าวโพดยังเล็ก ทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ส่วนราก
ช่วงที่ 2 เป็นการใส่ปุ๋ยแต่งหน้า เมื่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีอายุ 40 – 45 วันหลังปลูก แนะนำปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 46-0-0 อัตรา 25 – 30 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในขณะที่ดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม จะช่วยทำให้ติดดอกดี ฝักใหญ่ น้ำหนักดี
การเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม
เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก่จัดและแห้งสนิท (อายุประมาณ 120 วันหลังปลูก ขึ้นอยู่กับพันธุ์) ต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมีลักษณะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีฟางขาวหมดทั้งแปลง และเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ควรมีความชื้นประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดีไม่ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฝนตกเพราะเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมีความชื้นสูง ควรปล่อยให้ฝักและต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แห้งก่อนเก็บเกี่ยว