การปลูกอ้อยในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีในการช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร เช่น การนำเครื่องทุ่นแรงมาช่วยในการปลูก เป็นต้น วันนี้เราจึงมีวิธีที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่งมานำเสนอ นั้นคือ การปลูกซ่อมอ้อยด้วยข้อตา จะมีวิธีการทำอย่างไร และมีข้อดีอย่างไร เราไปอ่านด้านล่างกันเลยยยยย
…………………………………………………………………………………………………………….
การปลูกซ่อมอ้อยด้วยข้อตา หมายถึง การใช้ส่วนของข้ออ้อย ที่มีตา 1 ตา และมีปมรากที่อยู่บนข้ออ้อยดังกล่าว นำมาเพาะชำในถุงพลาสติกดำ หรือแปลงเพาะชำประมาณ 50-60 วันหรือเมื่อหน่ออ้อยงอก และมีใบ 3-5 ใบ จึงสามารถย้ายลงปลูกในแปลง
วัสดุที่ใช้ในการเพาะชำอ้อยข้อตา
- ดิน ทราย และวัสดุอื่นๆ เช่น กาตะกอน ขุยมะพร้าว ขี้เถาแกลบ อัตรา 2 : 1 : 1
- ถุงพลาสติกสีดำ ขนาด 3 x 6 นิ้ว
- น้ำหมักชีวภาพ
- ลำอ้อย
วิธีการเพาะชำอ้อยข้อตา
- นำวัสดุเพาะชำ (ดิน ทราย ขุยมะพร้าว) ผสมเข้าด้วยกัน
- บรรจุวัสดุเพาะชำลงในถุงเพาะชำ เหลือปากถุงประมาณ 1 นิ้ว และนำไปวางเรียงไว้ในพื้นที่ร่ม
- ตัด หรือ ซอยลำอ้อยออกเป็นข้อตาเดียว
- ผึ่งข้อตาอ้อยไว้ในที่ร่ม
- แช่อ้อยข้อตาในน้ำหมักชีวภาพ อัตรา น้ำ 10 ลิตร ต่อน้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง
- วางฝังข้อตาลงในถุง ถุงละ 1 ข้อตา
- วางถุงเพาะชำไว้ในร่ม หรือที่พรางแสง เมื่อข้อตาเริ่มงอกเป็นหน่อ รดน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพ อัตรา น้ำ 20 ลิตร/น้ำหมัก 1 ลิตร สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
- เมื่อหน่ออ้อย อายุ 50-60 วัน สามารถย้ายลงแปลงได้
การปลูกอ้อยข้อตา
สามารถทำได้ 2 แบบ คือ การวางข้อตาในร่องอ้อย และการดำหน่อในร่องอ้อย
ข้อดี
- ประหยัดท่อนพันธุ์อ้อย โดยพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ข้อตาประมาณ 2,000 ข้อ หรือใช้อ้อย 140 ลำ
- หน่ออ้อยจากข้อตาจะงอกทั้งหมด และแตกกอเร็วกว่าหน่ออ้อยที่งอกจากท่อนพันธุ์ 2-3 ตา
- ลดปัญหาวัชพืช เนื่องจากหน่ออ้อยข้อตาโตเร็ว จึงคลุมพื้นที่ระหว่างร่องอ้อยได้เร็วกว่าวัชพืช
- ช่วยในการขยายอ้อยพันธุ์ดีได้เร็วขึ้น กรณีอ้อยดีมีจำนวนน้อย
- เพิ่มความสามารถในการไว้ตอและผลิตอ้อย โดยใช้การปลูกซ่อมอ้อยทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยตอ เนื่องจากเป็นการย้ายต้นอ้อยที่มีอายุใกล้เคียงกับอ้อยที่ปลูกไว้ก่อน
นางสาวอโนชา คำเลิศ อายุ 49 ปี บ้านเลขที่ 18/2 หมู่ที่ 2 ต.คลองแม่ลาย อ. เมือง จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ทำไร่อ้อยมา 20 ปี เคยทดลองปลูกอ้อยด้วยข้อตามาบ้าง ซึ่งการปลูกด้วยวิธีนี้เนี้ย จะช่วยในการประหยัดท่อนพันธ์อ้อย และมีเปอร์เซ็นต์การงอกที่ 100 % เพราะเราสามารถเลือกท่อนพันธ์ุเองได้ หน่ออ้อยที่ได้รับการปลูกแบบนี้ จะสามารถแตกกอได้เต็มที่และแน่น แต่ในปัจจุบันไม่มีใครปลูกอ้อยแบบนี้ในแปลงที่ใหญ่ๆ เพราะสิ้นเปลืองเวลา และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะนำมาทำเป็นแปลงขยายพันธุ์ และแปลงปลอดโรคเพื่อทำการทดลอง โดยจะปลูกที่ระยะห่างระหว่างท่อนพันธุ์ 50 เซนติเมตร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ขอขอบคุณ : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม
Related posts