ปัจจุบันอาชีพปลูกผักคราด เป็นอาชีพที่น่าสนใจของชาวนาที่หมดฤดูทำนาแล้ว ซึ่งอาชีพปลูกผักคราดขายสามารถช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรชาวนาอีกด้วย
ที่หมู่บ้านบุ่งตาข่าย ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย ชาวบ้านได้พากันปลูกผักคราด หรือภาษาท้องถิ่นวังสะพุงเรียกว่าผักฮาด ผักพื้นบ้าน ที่ชาวอีสานและชาวภาคเหนือนิยมนำไปใส่ในอาหาร เช่น เอาะ แกงอ่อม หรือหมกชนิดต่างๆ โดยปลูกบนที่นาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งหมู่บ้านปลูกรวมกันกว่า 10 ไร่ ส่งขายที่ตลาดในตัวจังหวัด สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรกว่ารายละ 50,000 – 100,000 บาท ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินซื้อยาปราบศัตรูพืช และใช้พื้นที่น้อยกว่าปลูกข้าวโพด ต้นทุนเงินและแรงต่ำกว่ามาก ใช้พื้นที่เพียง 1-2 งาน ก็ขายได้เดือนละ 8,000 บาทแล้ว ทั้งหมู่บ้านมีรายได้จากการขายผักคราด รวมกว่า 2 ล้านบาทต่อหนึ่งฤดูกาลเลยทีเดียว
นางบุญแย้ม ศักดาพิทักษ์ หรือแม่คิว เกษตรกรผู้ปลูกผักคราด บ้านบุ่งตาข่าย เปิดเผยว่า ปลูกพืชชนิดนี้มานานประมาณ 10 ปี แล้ว ก่อนที่จะเริ่มปลูกนั้น เห็นเพื่อนบ้านไปเอาต้นพันธุ์จากอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เพราะต้นผักคราดแถวบ้านจังหวัดเลยหายากมาก แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะพื้นดินเต็มไปด้วยสารเคมี ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งที่หล่มสัก ผักคราดขึ้นอยู่ตามนาข้าวโพด เป็นวัชพืช ชาวบ้านแถวนั้นเขาไม่เอา ก็ให้ชาวบ้านบุ่งตาข่ายมาโดยไม่คิดเงิน เพื่อนบ้านก็เอามาปลูกเป็นคนแรก ปรากฏว่าขายดีมาก ระยะเวลาเพียง 4 เดือน ขายได้เงินกว่า 1 แสนบาท หลังจากนั้น ชาวบ้านบุ่งตาข่ายก็พากันไปขอเอาต้นพันธุ์จากหล่มสักมาปลูกด้วย ส่วนตนใช้ที่นา หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว รวมพื้นที่เกือบสองงาน
การปลูกก็ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก โดยนำต้นพันธุ์มาปักลงดินที่เตรียมแปลงไว้ ใส่ปุ๋ยคอกและฟางรองพื้นดิน หมั่นรดน้ำ และหมั่นถอนหญ้าออก ใช้เวลาเพียง 1 เดือน ก็สามารถเก็บยอดไปขายได้แล้ว โดยมีแม่ค้าที่ตลาดเช้าเทศบาลเมืองเลยสั่งซื้อเก็บในรอบ 3 วันจะนำใส่รถกระบะไปส่งลูกค้า ราคา 6 กำ 20 บาท เก็บได้เรื่อยๆ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม หากใครมีกำลังแรงพอปลูกไปถึงเดือนเมษายน หรือหน้าแล้ง ผักคราดจะราคาดีกว่าช่วงนี้มาก จากที่ตนปลูกมาเป็นระยะเวลา 10 ปี สร้างรายได้เสริมเป็นอย่างดี จนสามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีไปแล้ว 1 คน เพื่อนบ้านบางคนทิ้งไร่ข้าวโพดมาปลูกผักคราดขายเป็นรายได้หลัก เพราะต้นทุนต่ำกว่า ใช้พื้นที่น้อยกว่า แต่รายได้สูงกว่า และที่สำคัญไม่ต้องเสี่ยงรับสารพิษหรือสารเคมีปราบศัตรูพืชเข้าร่างกายด้วย
อย่างไรก็ตาม การปลูกผักคราดต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด หมั่นรถน้ำและกำจัดหญ้า หากดูแลไม่ดีพอก็จะเป็นโรคใบแห้ง ขายไม่ได้ราคา เคยมีชาวบ้านจากที่อื่นนำต้นพันธุ์ไปปลูก แต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพดินและสภาพอากาศของหมู่บ้านบุ่งตาข่ายเหมาะสมที่สุดสำหรับผักชนิดนี้ นางบุญแย้มกล่าว
ทั้งนี้ ผักคราด มีรสชาติจืดๆมันๆ รับประทานแล้วจะรู้สึกชาที่ลิ้นชั่วขณะ หรือชาวอีสานเรียกว่ามันกระเด้าลิ้น คล้ายผงหม่าล่า เครื่องปรุงรสประเภทปิ้งย่างจากประเทศจีน ที่กำลังนิยมอย่างมากในประเทศไทย ผักคราดจัดเป็นผักและยาสมุนไพร และเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน อีกทั้งทางด้านเภสัชวิทยาช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ ต้านไวรัส ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ลดความดันโลหิต เพิ่มฤทธิ์ของฮิสตามีนในการทำให้ลำไส้หดเกร็ง ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันฆ่ายุง ฆ่าลูกน้ำยุง ทำให้ชัก เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวด ลดความแรงและความถี่ของการบีบตัวของหัวใจห้องบน ยับยั้งการหดตัวของมดลูกซึ่งเหนี่ยวนำด้วย
ประโยชน์ของผักคราด
- ใบผักคราดหัวแหวน สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหารคาวเพื่อช่วยดับกลิ่นและช่วยเพิ่มรสชาติ ส่วนยอดอ่อนและดอกอ่อนใช้ลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก แกล้มกับลาบ ก้อย แกง หรือใส่ในแกงแค อ่อมปลา อ่อมกบ หรือนำไปแกงร่วมกับหอยและปลา
- หมอแผนไทยในปัจจุบันจะใช้ผักคราดเพื่อเข้าตำรับยาแก้ปวดบวม บ้างก็ทำเป็นยาหม่อง ทำเป็นน้ำมัน หรือทำเป็นลูกประคบ แต่ไม่นิยมนำมารับประทาน
- ทั้งต้นและดอกมีสาร Spilanthol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาเฉพาะที่ จึงมีการนำมาสกัดใช้ทำเป็นยาชา โดยใช้ต้นนำมาทำเป็นยาฉีดให้มีความเข้มข้น 50% ในการผ่าตัดหน้าท้อง แล้วฉีดยานี้ลงไปทีละชั้น หลังจากนั้น 3-8 นาที ก็สามารถทำการผ่าตัดได้ และในระหว่างการผ่าตัด อาจฉีดยาลงไปได้อีก เพื่อระงับอาการปวด ซึ่งในการผ่าตัดท้องจะใช้ประมาณ 100-150 มล. ส่วนการผ่าตัดเล็กจะใช้ 60-80 ม.ล. และจากการการผ่าตัดจำนวน 346 ราย พบว่าได้ผลดีถึง 326 ราย และไม่พบว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ง่าย อาจพบว่ามีความดันโลหิตลดลงเพียงเล็กน้อย และแผลหลังการผ่าตัดมักเกิดแผลเป็น (การใช้เป็นยาชา ลำต้นหรือก้านดอกจะมีฤทธิ์แรงกว่าใบ) (ประเทศจีน) ส่วนใบก็มีฤทธิ์เป็นยาชาเช่นกัน
- ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าตัวอ่อนของยุง ใช้ในการเบื่อปลา (ทั้งต้น)
- มีงานวิจัยทางด้านสารธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร พบว่าสารสกัดผัดคราดหัวแหวนมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้เป็นอย่างดี และช่วยฆ่ายุงได้ดีเช่นกัน
แหล่งที่มา
ขอขอบคุณ : พืชมหัศจรรย์ / ประโยชน์