การเป็นลูกจ้างในยุคปัจจุบัน คงเป็นความขมขื่นสุดจะทน หลายคนจึงมีฝันที่จะหนีไปให้ไกล ในวิถีชีวิตลูกจ้าง
สิ่งที่กลายเป็นปรากฏการณ์ “เดี๋ยวนี้ คนรุ่นใหม่อยากลาออกจากงานประจำ ไปทำเกษตรกรรมเยอะมาก”
เริ่มตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บนแผงหนังสือ ถูกยึดครองด้วยหนังสือแนวเกษตรกรรมจำนวนมาก อย่างที่ไม่เคยมีมากขนาดนี้มาก่อน
แล้วแต่ละเล่ม “สร้างฝัน” ทั้งสิ้น พืชชนิดนั้นเงินล้าน พืชชนิดนี้เงินล้าน หรือ พื้นที่เท่านั้นเท่านี้ไร่ ได้กี่แสน อ่านแค่ปก ตาก็ลุกวาวเป็นประกาย พร้อมตั้งคำถามกับตัวเอง…เฮ้ย! นี่เรามาโง่งมทำอะไร ทำงานแทบตาย โดนโขกโดนสับขนาดนี้ ได้เงินแค่นี้เองเหรอ…
แต่เดี๋ยวจะหาว่าผมขัดคอ กีดขวางคนมีฝัน เอาเป็นว่า ผมประมวลสิ่งที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับผู้คนที่เป็นเกษตรกรตัวจริงแต่อ้อนแต่ออก และเกษตรกรในฝัน เกษตรกรแบบสมาร์ตฟาร์มเมอร์ มีหลายอย่างน่าสนใจ และใครที่ยังมีฝันเช่นที่ว่ามา ลองนำไปใคร่ครวญดูครับ
1. ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันครับว่า เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ “เหนื่อย” แม้จะเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ ที่หาเครื่องทุ่นแรงมาใช้มากมาย ก็ไม่วายต้องเหนื่อยในช่วงเริ่มต้น
ที่จั่วข้อนี้มาเป็นอันดับแรก เพื่อจะบอกว่า ถ้ายังมีฝัน ลองถามตัวเองว่า มีความสุขที่ต้องทำงานกลางแดด กลางลม เหงื่ออาบร่างแทบทั้งวันหรือไม่
2. อย่าไปบ้าตามคนอื่น มีเกษตรกรรุ่นใหม่คนหนึ่งพูดได้น่าคิดครับ “อย่าไปหลงใหลได้ปลื้ม คิดว่ามันจะเป็นตามปกหนังสือ ปลูกไอ้โน่นเงินล้าน ไอ้นี่เงินล้าน ถ้าเขาปลูกได้เงินล้านจริง คงไม่มานั่งเขียนหนังสือขายหรอก” ไม่ได้แปลว่าไม่มีโอกาสทำเงินล้านได้ แต่ปัจจัยเกี่ยวข้องคงมีมากกว่าที่ปรากฏในหนังสือ ดังนั้น อย่าคิดว่าจะปลูกตามใคร แต่จงปลูกตามที่สนใจอยากปลูก ปลูกเพราะชอบพืชชนิดนั้น เพราะความชอบจะทำให้เราอยู่กับสิ่งนั้นได้นาน โดย “ไม่เบื่อ”
3. มีความรู้ ไม่ว่าคิดจะปลูกอะไร ควรศึกษาหาความรู้ให้มากพอที่จะลงมือทำได้ อย่าทดลองแบบสุ่มสี่สุ่มห้า โดยไม่รู้อะไรเลย ความรู้ที่ว่านี้ ไม่เพียงทำความเข้าใจพืชชนิดที่จะปลูกเท่านั้น แต่เรื่องดิน น้ำ อากาศ ธาตุอาหาร วิธีการรับมือกับโรคและแมลง ล้วนแต่เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และไม่ควรละเลยที่จะต้องรู้
4. ควรมีพื้นที่ของตัวเอง พูดง่ายๆ มีที่ดินเป็นของตัวเอง ไม่เช่นนั้น การไปเช่าอาจโดนค่าเช่าผลาญรายได้ไปหมด บางรายก็ใช้วิธีซื้อด้วยเงินที่เก็บหอมรอมริบมา แบบนี้ก็ยังพอได้ เพราะคิดเสียว่า ออมเงินในรูปของอสังหาริมทรัพย์ จะได้สบายใจ เพราะหากนำต้นทุนค่าที่ดิน มารวมเป็นต้นทุนในการทำเกษตรกรรมด้วย อาจหมดแรงใจไปเสียก่อน
5. มีเวลา อย่าฝันไปว่า ฉันจะเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ ที่ใช้เครื่องทุ่นแรงล้วนๆ ไม่ต้องมีเวลาก็ทำได้ หรือใช้วิธีไปปลูกแล้วปล่อยโตตามยถากรรม ปลูกทิ้งขว้างแบบนั้น คงไม่สมควรนับว่าเป็นการทำอาชีพเกษตรกรรม ควรเรียกว่าปลูกกันที่ว่างไร้ประโยชน์ น่าจะตรงมากกว่า
6. มีความใส่ใจ มีผู้กล่าวว่า “รอยเท้าของเจ้าของ คือ ปุ๋ยชั้นดีของพืช” เจ้าของเหยียบย่ำไปถึงตรงไหน พืชก็เจริญเติบโตไปถึงนั่น ถ้าจะตีความแบบดูไม่ลึกลับเป็นไสยศาสตร์ ก็คือ “ความใส่ใจ” เจ้าของควรหมั่นเดินตรวจตรา ดูความเปลี่ยนแปลง สังเกตพืชพันธุ์ที่ตัวเองปลูกทุกต้น บ่อยเท่าที่จะเป็นไปได้
เครื่องทุ่นแรง อาจให้น้ำอัตโนมัติ หรือทำอื่นๆ อัตโนมัติ แต่เครื่องเหล่านั้น สอดส่องดูแลใกล้ชิดแบบคนไม่ได้ ความใส่ใจ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ
7. มีความอดทน อาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพแห่งการรอคอย ไปเร่งเวลาไม่ได้ ต้องรอคอยค่อยเป็นค่อยไป ตามธรรมชาติของพืชแต่ละชนิด แต่ถ้าเข้าใจลึกซึ้ง ก็อาจแกล้งให้เกิดการออกผลผลิตนอกฤดูได้ สภาพดินฟ้าอากาศ น้ำ ลม แต่ละที่ มีความแตกต่างกัน โรค แมลง พร้อมรุมเร้า คิดว่า “รับมือ” ไหวหรือไม่
Related posts