มะระโอกินาวา เป็นพืชพื้นเมืองที่มีความนิยมของจังหวัดโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมะระเป็นพืชผักที่มีวิตามินซีสูง ส่วนของความขมในมะระนั้นเกิดจากสารที่เรียกว่า “โมโมดิซิน” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเจริญอาหารและเป็นยาระบายอ่อนๆ อีกทั้งยังมีสาร “ซาแลนทิน” ที่อยู่บริเวณเปลือก ซึ่งมีสรรพคุณทางยาในการลดน้ำตาลในเลือด และรักษาโรคเบาหวาน

ทั้งนี้ การปลูกมะระโอกินาวาในไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก จึงทำให้ราคาของมะระมีราคาที่สูง และยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพราะเป็นพืชที่มีสรรพคุณเยอะ จึงเป็นพืชที่เหมาะแก่การปลูกเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

การปลูกมะระโอกินาวา

  1. วิธีเพาะในแปลง การเพาะด้วยวิธีนี้ต้องพรวนดินให้ร่วนซุย ผสมปุ๋ยมูลสัตว์เพื่อให้ดินร่วนซุยยิ่งขึ้น นำเมล็ดมะระมาเรียงห่างกัน ประมาณ 3 เซนติเมตร กลบด้วยดินหนา 2-3 เซนติเมตร เอาฟางคลุม รดน้ำ 3-4 วัน รอจนต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ หรืออายุประมาณ 8-10 วัน ก็ย้ายแปลงปลูก โดยก่อนการถอนกล้าควรรดน้ำให้ชุ่มเสียก่อน เพื่อต้นกล้าไม่บอบช้ำมากนัก
  2. วิธีการเพาะกล้าในถุงดำเล็ก นำดินผสมปุ๋ยคอกและวัสดุปลูกที่หาได้ใส่ถุงดำ ขนาด 7×8 เซนติเมตร แช่เมล็ดมะระในน้ำ ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำเมล็ดเพาะใส่ถุง ถุงละ 1 เมล็ดรดน้ำให้พอชุ่ม เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ จึงย้ายลงแปลงปลูก
  3. วิธีการเพาะกล้างอกวิธีเพาะกล้ามะระโอกินาวา นำเมล็ดพันธุ์มะระโอกินาวามาแช่น้ำอุ่นไว้ ประมาณ 1 คืน หรือราว 5-8 ชั่วโมง เช้าอีกวันก็นำเมล็ดมาห่อกับผ้าเปียกน้ำหมาดๆ นำไปบ่มไว้ในกระติกน้ำหรือกล่องโฟม หรือใช้ถุงร้อนคลุมอบก็ได้ เพื่อให้เมล็ดมะระออกรากเร็วและงอกดีขึ้น ประมาณ 2 วัน เมื่อเปิดดูจะเห็นรากสีขาวๆ โผล่ออกมา เลือกเมล็ดที่รากงอกนั้น แล้วนำไปปลูกในถาดเพาะกล้าหรือถุงดำขนาดเล็ก เพื่อให้ง่ายในการดูแลรักษาต้นกล้า ดังนั้น แนะนำให้เพาะกล้าเสียก่อน การย้ายเมล็ดต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้รากอ่อนที่งอกจากเมล็ดหัก ควรใช้ไม้กดจิ้มวัสดุปลูกให้เป็นหลุมเสียก่อน แล้วนำเมล็ดหยอดลงไปใช้ปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งบีบดินหรือวัสดุปลูกกลบเมล็ดเบาๆ จากนั้นรดน้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้แฉะ จนต้นมะระโอกินาวามีใบจริง 2-3 ใบ ก็สามารถย้ายปลูกในแปลงหรือถุงดำขนาดใหญ่ได้ ในช่วงที่เลี้ยงกล้าต้องหมั่นระวังแมลงที่จะมากัดกินยอด เช่น ตั๊กแตน และแมลงปีกแข็ง เป็นต้น
  4. วิธีหยอดลงหลุมปลูกในแปลงเลย นำเมล็ดมะระแช่น้ำอุ่นไว้อย่างน้อย 5-8 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการงอกและทำให้เปลือกมะระขี้นกยักษ์โอกินาวานิ่มก่อน แล้วนำไปหยอดกลบที่หลุมปลูก หลุมละ 1-2 เมล็ด ในแปลงปลูกได้เลย

การใส่ปุ๋ย

          เริ่มต้นในขณะที่เตรียมดินปลูก ควรใส่ปุ๋ยคอกเก่าคลุกเคล้าลงไปในดินด้วย เพื่อช่วยให้ดินร่วนอุ้มน้ำให้อยู่ในดินได้นาน และช่วยรักษาสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช หลังปลูกมะระได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยเคมี ใส่ปุ๋ยทุก 7 วันครั้ง โดยจะเน้นใส่ปุ๋ยเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 หลักการคือ เน้นการให้ปุ๋ยบ่อย แต่ให้ครั้งละไม่มาก ให้มะระได้กินปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง ถ้าสังเกตว่าต้นมะระยอดแตกไม่ค่อยดี ยอดไม่เดิน ก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตรตัวหน้า (ไนโตรเจน) สูง อย่าง 25-7-7 พอยอดมะระเดินดีแล้วก็ค่อยกลับมาใช้ 16-16-16 ยืนพื้นตามเดิม หรือในบางพื้นที่อาจจะหาซื้อปุ๋ย สูตร 25-7-7 ไม่ค่อยมี จะสามารถผสมปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 อัตรา 1 ส่วน กับปุ๋ยที่มีสูตรตัวหน้า (ไนโตเจน) สูง เช่น ยูเรีย (สูตร 46-0-0) หรือ แคลเซียมไนเตรต (สูตร 15-0-0) เลือกใช้ตามความเหมาะสม อัตรา 1 ส่วน นำมาผสมกัน

             ส่วนการให้ปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง จะฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน ตั้งแต่ช่วงปลูกแรกๆ พอมะระแตกใบมา 4-5 ใบ ก็เริ่มฉีดพ่นแล้ว เพื่อเร่งต้นให้โตเร็ว แตกยอดเลื้อยขึ้นค้างได้เร็ว โดยจะฉีดพ่นทั้งฮอร์โมนสลับกันไป เช่น สาหร่ายสกัด เร่งการแตกยอดแตกใบ แคลเซียม-โบรอนอี เสริมให้ต้นแข็งแรง ช่วยให้ดอกดี ผสมเกสรดี ติดผลได้ดี แมกนีเซียมเดี่ยว ช่วยทำให้ใบเขียว ขยายลูก สร้างเนื้อ เป็นต้น

          ช่วงมะระขี้นกยักษ์โอกินาวา อายุได้ 30 วัน หรือพบว่าเริ่มเห็นดอกของมะระ ให้รดน้ำ วันละ 1-2 ครั้ง ตามความเหมาะสม การให้น้ำวันละกี่ครั้งหรือให้ปริมาณเท่าไร ต้องดูความชื้นของดินและสภาพอากาศประกอบ ช่วงที่มะระออกดอกตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงผลจะขาดน้ำไม่ได้เลยในช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้นมะระไม่ค่อยอยากจะโต ใบดูไม่สดชื่น เมื่อได้น้ำสม่ำเสมอทุกวันระยะนี้มะระจะติดดอกติดผล สังเกตต้นมะระถ้าสมบูรณ์ดี ยอดพุ่งดี มันจะติดดอกติดผลดีมาก

 

 

 

แหล่งที่มา

ขอขอบคุณ : รักบ้านเกิด / เทคโนโลยีชาวบ้าน / เส้นทางเศรษฐีออนไลน์