ถ้าพูดถึงถึงหอยเชอรี่ แรกเริ่มเดิมทีคนไทยนำเข้าหอยเชอรี่ เพื่อการเพาะเลี้ยงสำหรับประดับตกแต่งตู้ปลาให้สวยงาม และการนำเนื้อหอยมาทำเป็นอาหารของมนุษย์ แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จึงทำให้ผู้เลี้ยงบางรายทิ้งหอยเชอรี่ที่เลี้ยงไว้ ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาแก่เกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นอย่างมาก และหอยเชอรี่ จัดเป็นหอยน้ำจืดที่เป็นศัตรูสำคัญของต้นข้าว ในแต่ละปีหอยเชอรี่จะทำลายกอข้าวของเกษตรกรในหลายพื้นที่เสียหายเป็นอย่างมาก
หอยเชอรี่ตัวหนึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนระบบสืบพันธุ์เป็นเพศตรงข้ามเพื่อให้สามารถผสมและขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ สามารถวางไข่ได้ปริมาณมาก คือ 100 – 3,000 ฟองต่อตัว อัตราการฟักออกเป็นตัวมีเปอร์เซ็นต์สูง และการวางไข่สามารถเกิดได้ 3 – 4 ครั้งต่อปี มีผลในด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิเช่น การแพร่ระบาดของหอยเชอรี่เป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถกินอาหารได้เกือบทุกชนิด ที่ชอบมากคือ สาหร่ายพุงชะโด และต้นข้าวในระยะเป็นยอดอ่อน / ใบอ่อน/ต้นอ่อน สาเหตุนี้หล่ะค่ะ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องชาวนา และมันสามารถปรับตัวได้ดีทุกสภาพของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่สะอาดหรือน้ำมีมีมลภาวะไม่ดีก็ตาม
แนวทางการควบคุม และกำจัดหอยเชอรี่ ที่เกษตรกรชาวนา จะต้องทำ สามารถกระทำได้หลายวิธี อย่างเช่น โดยการปล่อยเป็ดลงในพื้นที่ที่มีหอยเชอรี่อยู่และควรเป็นช่วงที่น้ำเพิ่งลดใหม่ ๆ เพื่อให้เป็ดไซ้กินหอยขนาดเล็กได้ แต่หากปล่อยเป็ดในช่วงที่น้ำลดและดินแห้งแล้ว จะไม่ได้ผลนัก เนื่องจากหอยเชอรี่จะฝังตัวอยู่ในดิน และจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน เพื่อรอน้ำในฤดูการเพาะปลูกต่อไป บางพื้นที่ทำการควบคุมโดยการใช้กระบวย หรือสวิง ตักช้อนตัวหอยเชอรี่ออกจากพื้นที่ หากแต่บางพื้นที่ ใช้สารเคมีสำหรับกำจัดหอย (moscicde) ซึ่งสามารถกำจัดได้แน่นอน แต่ผลกระทบที่จะได้รับนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรใช้ เนื่องจากสารเคมีจะตกค้างในพื้นที่ เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศน์อย่างรุนแรง และเป็นอันตรายต่อร่างกายของเกษตรกร เช่น ระคายเคืองกับผิวหนังเมื่อมีการสัมผัสกับน้ำที่มีสารเคมีตกค้าง และหากจะใช้ก็ต้องทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้นด้วย
แนวทางที่น่าสนใจในการกำจัดหอยเชอรี่ที่ได้ประโยชน์อื่นๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำได้ดังนี้
1. การทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์
1. ทำเป็นปุ๋ยสำหรับพืช เช่น การทำปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่
วัสดุอุปกรณ์
1.1 เนื้อหอยเชอรี่ที่ไม่มีเปลือก
1.2 ไข่หอยเชอรี่
1.3 พืชสดอ่อน-แก่
1.4 เนื้อหอยเชอรี่พร้อมเปลือก
1.5 น้ำตาลโมลาส
1.6 ถังหมักที่มีฝาปิด ขนาด 300 ลิตร หรือ 200 ลิตร
1.7 หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
1.8 ถังบรรจุหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
1.9 แกลลอน/ถัง บรรจุผลิตผลปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่
1.10 กรวยกรองปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่
วิธีการทำปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่
วิธีที่ 1 การทำปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่ทั้งเปลือก นำหอยเชอรี่ทั้งตัวมาทุบหรือบดให้ละเอียด จะได้เนื้อหอยเชอรี่พร้อมเปลือกและน้ำจากตัวหอยเชอรี่ และนำไปผสมกับน้ำตาลโมลาส และน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ อัตรา 3 : 3 : 1 คนให้เข้ากัน และนำไปบรรจุในถังหมักขนาด 30 ลิตร หรือ 200 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่งปิดฝาทิ้งไว้ อาจคนให้เข้ากันหากมีการแบ่งชั้น ให้สังเกตดูว่ามีกลิ่นเหม็นหรือไม่ ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้ใส่น้ำตาลโมลาสเพิ่มขึ้น และคนให้เข้ากันจนกว่าจะหายเหม็น ทำอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าจะไม่เกิดก๊าซให้เห็นบนผิวหน้าของปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรี่ แต่จะเห็นความระยิบระยับอยู่ที่ผิวหน้าน้ำหมักดังกล่าว บางครั้งอาจพบว่ามีตัวหนอนลอยพนผิวหน้าและบริเวณข้างถังภาชนะบรรจุ ควรรอจนกว่าตัวหนอนดังกล่าวตัวใหญ่เต็มที่และตายไป ถือว่าการหมักหอยเชอรี่ทั้งตัวเสร็จสิ้นกระบวนการ กลายเป็นปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรี่ สามารถนำไปใช้ได้หรือนำไปพัฒนาผสมกับปุ๋ยน้ำอื่นๆใช้ประโยชน์ต่อไป
วิธีที่ 2 การทำปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่ นำไข่หอยเชอรี่ หรือกลุ่มไข่หอยเชอรี่มาทุบหรือบดให้ละเอียด จะได้น้ำไข่หอยเชอรี่พร้อมเปลือก แล้วนำไปผสมกับน้ำตาลโมลาสและน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ อัตรา 3 : 3 : 1 คนให้เข้ากันแล้วนำไปหมักตามกระบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 3 การทำปุ๋ยน้ำหมักจากไข่หอยเชอรี่และพืช นำไข่หอยเชอรี่หรือกลุ่มไข่หอยเชอรี่มาทุบหรือบดให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับพืชส่วนที่อ่อนๆ หรือส่วนยอดความยาวไม่เกิน 6 นิ้ว หรือไม่เกิน 1 คืบที่หั่นหรือบดละเอียดแล้วเช่นกัน แล้วนำมาผสมในอัตราส่วน ไข่หอยละเอียด : น้ำตาลโมลาส : พืชส่วนอ่อนบดละเอียด และน้ำหมักน้ำเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ คือ 3 : 3 : 1 แล้วนำไปหมักตามวิธีการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 4 นำตัวหอยเชอรี่ทั้งตัวจำนวนเท่าใดก็ได้ต้มในกระทะ พร้อมทั้งใส่เกลือแกงผสมลงไปด้วยในจำนวนพอเหมาะ เพื่อให้เนื้อหอยเชอรี่แยกออกจากเปลือกได้ง่ายขึ้น และนำเฉพาะเนื้อหอยเชอรี่มาบดให้ละเอียด ให้ได้จำนวน 3 ส่วน เพื่อผสมกับน้ำตาลโมลาสและน้ำหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ อัตรา 3 : 3 : 1 คนผสมให้เข้ากันแล้วนำไปหมักตามกระบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 5 การทำปุ๋ยน้ำหมักจากเนื้อหอยเชอรี่ และพืชสด นำเนื้อหอยเชอรี่ที่ได้จากการต้มกับเกลือเหมือนวิธีที่ มาบดให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับน้ำตาลโมลาส และชิ้นส่วนของพืชส่วนที่อ่อน เหมือนวิธีที่ 3 อัตราส่วนเนื้อหอยเชอรี่บดละเอียด : น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ คือ 3 : 3 : 1 คนผสมให้เข้ากันอย่างดีแล้วนำไปหมักเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 6 การทำปุ๋ยน้ำหมักจากเนื้อหอยเชอรี่ ไข่หอยเชอรี่ และพืชสด วิธีการนี้เป็นการผสมปุ๋ยหมักแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องแยกวัสดุแต่ละชนิด ควรใช้อัตราส่วนเนื้อหอยเชอรี่พร้อมเปลือกหรือเนื้อหอยเชอรี่อย่างเดียว : ไข่หอยเชอรี่ : พืชอ่อนอัตรา 3:3:5 -6:2:3 มีข้อสังเกตเพียงดูว่ามีกลิ่นเหม็นหรือไม่เพียงใด หากมีกลิ่นเหม็นให้เติมน้ำตาลโมลาส และน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติเพิ่มขึ้นจนกว่าจะไม่มีกลิ่น จะใช้เวลานานแค่ไหน เพียงใด ให้ดูลักษณะผิวหน้าของน้ำหมัก เช่นเดียวกับการทำน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ จากผลวิเคราะห์ข้อมูลน้ำหมักของหอยเชอรี่ พบว่า ค่าความเป็นกรดเป็นด่าของหอยเชอรี่จะค่อนข้างต่ำ ประมาณ 4.2-4.9 นับว่าเป็นกรดค่อนข้างมาก และค่าการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้า หรือค่าความเข้มข้นของน้ำหมักค่อนข้างสูงมากเช่นกัน เวลานำไปผสมหรือพัฒนาจะต้องะมัดระวังการนำไปใช้ในปริมาณมากจะเป็นพิษกับต้นพืชที่มีลักษณะอ่อนระยะการเจริญเติบโตแรกได้ ในหลักการใช้อัตราเจือจางที่สุด เช่น 5-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตรแล้วทดลองใช้กับพืชที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ก่อน สังเกตการตอบสนองต่อปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่ ต่อไข่ ต่อพืช หากไม่แสดงอาการเป็นพิษก็สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้ จากค่าไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซี่ยม จะพบว่าน้ำปุ๋ยหมักจากเนื้อหอยเชอรี่ ไข่หอยเชอรี่จะมีปริมาณค่อนข้างใช้ได้อย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยหมักจากพืชและมูลสัตว์ทั่วไป
2.ทำเป็นอาหารสัตว์ในรูปแบบต่างๆ ก็เป็นแนวทางที่ช่วยกำจัดได้ โดยการนำหอยเชอรี่มาต้มให้สุกก่อนแล้วแยกเนื้อออกจากเปลือก หรืออาจเป็นการบดทั้งเปลือกและเนื้อให้ละเอียดและตากแดด 2-3 วัน ให้แห้งสนิท แต่หากมีเครื่องจักรมาช่วยให้การแยกเอาเนื้อและเปลือกออกจากกันทำได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพ โดยการแยกเฉพาะเนื้อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ปีกในเนื้อหอย เนื่องจากเปอร์เซ็นต์โปรตีนในเนื้อค่อนข้างสูง(สูงกว่าปลาป่น)คือ 46-48%และมีค่าพลังงานประมาณ 3,500-3,800 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม มีความเหมาะสมที่ทำเป็นอาหารสัตว์ ที่มีอายุการเลี้ยงไม่นานนัก เช่น ไก่ไข่ ไก่เนื้อ นกกระทา และเป็ด และหาการใช้ผสมทำเป็นสูตรอาหารสัตว์โดยตรง สามารถผสมได้ในสัดส่วนสูงถึง 15% เพราะในเนื้อหอยเชอรี่ไม่มีเกลือเหมือนปลาป่น จึงไม่มีผลทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการท้องร่วง แต่ก็มีข้อควรคำนึงที่สำคัญในการนำเนื้อหอยเชอรี่ป่นมาผสมอาหารสัตว์คือ เรื่องของความชื้นในเนื้อหอยเชอรี่ป่นไม่ควรมีความชื้นเกิน 14 % เพราะหากมีความชื้นสูงจะมีกลิ่นเหม็นมาก และเนื้อหอยป่นควรมีความละเอียด เพื่อให้การผสมรวมเข้ากับส่วนผสมอื่น ๆ ในอาหารสัตว์ได้ดี
เพียงเท่านี้เราก็สามารถกำจัด สิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดปัญหาในการทำเกษตรที่สำคัญ เช่นหอยเชอรี่ที่เคยมีการแพร่ระบาดทำความเสียหายอย่างมากต่อพื้นที่การผลิตด้านการเกษตร ได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์กับการทำเกษตรอินทรีย์ได้อีกด้วย
/ งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่าายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ
Related posts