ทุกท่านเคยประสบปัญหา การนำเมล็ดพันธุ์พืชนำไปปลูก หรือนำไปขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดที่ส่วนใหญ่มักเป็นพืชเศรษฐกิจ แล้วไม่ได้ผลลัพท์เป็นไปอย่างที่น่าพอใจหรือไม่ กล่าวคือเมล็ดพันธุ์ไม่เจริญงอกงามตรงตามพันธุกรรมของพืชนั้น  ทั้งนี้เป็นเพราะส่วนหนึ่ง เกิดจากการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ คือการที่เมล็ดพันธุ์สูญเสียศักยภาพ หรือความแข็งแรงอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในทางไม่ดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมล็ดจนกระทั่งเมล็ดพันธุ์ตายไปในที่สุด

    ความสามารถในการเก็บรักษา อัตราเร็วในการเสื่อมคุณภาพ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเมล็ดพันธุ์พืชแต่ละชนิด โดยทั่วไปเมล็ดพันธุ์พืชประเภทแป้ง จะเสื่อมคุณภาพช้า หรือเก็บรักษาได้ง่ายกว่าเมล็ดพันธุ์พืชที่ประเภทน้ำมัน แต่ไม่อาจเป็นเช่นนั้นเสมอไปที่เมล็ดพันธุ์ประเภทน้ำมันเป็นเมล็ดพันธุ์เสื่อมเร็ว เพราะมีน้ำมันมาก เพราะเมล็ดพันธุ์ฝ้ายซึ่งมีน้ำมันสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สามารถเก็บได้นานกว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ยิ่งกว่านั้นเมล็ดพืชชนิดเดียวกันแต่คนละพันธุ์ ยังอาจมีอัตราการเสื่อมไม่เหมือนกัน  เมล็ดพันธุ์พันธุ์เดียวกันแต่คนละล็อตอาจจะเสื่อมเร็วไม่เท่ากัน และแม้เมล็ดพันธุ์แต่ละเมล็ดในล็อตหรือถุงเดียวกัน หรือแม้แต่ในหนึ่งกำมือเดียวกัน ก็มีอัตราเร็วที่แตกต่างกันไป จึงสรุปได้ว่า เมล็ดต่างชนิดหรือต่างพันธุ์กันเสื่อมคุณภาพเร็วช้าไม่เท่ากัน เพราะมีพันธุกรรมที่ต่างกัน การได้รับสภาพแวดล้อม การปฏิบัติต่อเมล็ดพันธุ์ และการดูแลรักษาก็แตกต่างกัน

      ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องศึกษาปัจจัยที่จะมีผลต่อการงอกของเมล็ดพืช เทคนิควิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

ปัจจัยที่จะมีผลต่อการงอกของเมล็ดพืช

1.  ปัจจัยในตัวเมล็ดพันธุ์เอง

  • ชนิดและพันธุ์ องค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างต่างๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าล้วนเป็นเรื่องของพันธุกรรม
  • ที่มาที่ไปของเมล็ดพันธุ์ เช่น การถูกกระทบกระเทือนในการเก็บเกี่ยว นวด ตาก และขนส่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นความรุนแรงของความเสื่อมที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว
  • ระดับความลึกหรือความหนักแน่นของการพักตัว

2.  ปัจจัยภายนอก 

  • ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ ปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในเมล็ดพันธุ์โดยตรง หรือความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ  ซึ่งเป็นตัวกำหนดความชื้นของเมล็ด  เมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นสูงจะมีการเผาพลาญอาหารสูง ทำให้เกิดความร้อนและความชื้นเพิ่มขึ้นกับตัวเมล็ดพันธุ์ และสาเหตุของการเสื่อมของเมล็ดพันธุ์เร็วขึ้นเกิดจากความร้อนที่สะสมมากขึ้น ซึ่งหากทุกๆ 1% ที่ความชื้นในเมล็ดพันธุ์ลดลง อายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์นั้นจะนานขึ้นอีกเท่าตัว
  • อุณหภูมิของสภาพแวดล้อมรอบๆ เมล็ดพันธุ์  เมล็ดพืชแต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอกแตกต่างกัน และอิทธิพลของความชื้นและอุณหภูมินั้น มีความสัมพันธ์กัน หมายถึงเมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นต่ำสามารถทนทานต่ออุณหภูมิที่สูงได้ แต่เมื่อเมล็ดพันธุ์มีความชื้นสูงก็จะยิ่งได้รับอันตรายจากอุณหภูมิสูงได้ง่าย เมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นต่ำจะยิ่งเสื่อมช้าลงไปอีกหากเก็บในที่อุณหภูมิต่ำด้วย ซึ่งหาก อุณหภูมิในโรงเก็บที่ลดลง ทุกๆ 10 ℉ อายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์จะเพิ่มขึ้น อีก 1 เท่าตัว
  • ออกซิเจน เมล็ดพันธุ์ในแต่ละระยะการเติบโต มีความต้องการออกซิเจนที่ต่างกันไป เมล็ดขณะงอกมีอัตราการหายใจสูง เพื่อใช้ในกระบวนการสลายสารอาหารเพื่อให้ได้พลังงานซึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการเมแทบอลิซึมต่างๆของเซลล์แต่มีพืชบางชนิด เช่น พืชน้ำ สามารถงอกได้ดีในออกซิเจนต่ำ 
  • แสง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ควบคุมการงอกของเมล็ด เมล็ดพืชบางชนิดจะ จะสามาระงอกได้ต่อเมื่อมีแสง เช่น วัชพืชต่างๆ หญ้า ยาสูบ ผักกาดหอม สาบเสือ ปอต่างๆ เป็นต้น เมล็ดพืชอีกหลายชนิดไม่ต้องการแสงในขณะงอก เช่น กระเจี๊ยบ แตงกวา ผักบุ้งจีน ฝ้าย ข้าวโพด เป็นต้น
  • ศัตรูเมล็ด เช่น เชื้อโรค เชื้อรา แมลง และหนู เป็นต้น
  • ภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์
  • สถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ วิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในระหว่างการรอจัดจำหน่าย

 

 

การดูแลรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์

วิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เป็นการคงสภาพความมีชีวิต ของเมล็ดพันธุ์ให้อยู่ได้นานที่สุด ซึ่งมีอยู่หลายวิธี

1. เก็บในสภาพปกติ หรือไม่มีห้องเย็น สามารถทำได้ดังนี้

  • บรรจุเมล็ดพันธุ์ไว้ในกระสอบผ้า กระสอบป่าน หรือถุงพลาสติดสาน จากนั้นเก็บไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก  ไม่ร้อนชื้นหรืออบอ้าว และทำให้เมล็ดพันธุ์แห้งอยู่เสมอทำได้โดยการนำไปตากแดด
  • บรรจุเมล็ดพันธุ์ไว้ในภาชนะที่ปิดสนิท โดยจะต้องทำให้เมล็ดพันธุ์แห้งเป็นพิเศษก่อนบรรจุในภาชนะที่เก็บรักษา

2.  เก็บในอุณหภูมิต่ำหรือห้องเย็น เหมาะกับการเก็บรักษา เมล็ดพืชที่มีอายุสั้น หลายชนิดที่ไม่ชอบสภาพแห้ง เพราะจะเสียความงอก โดยมีวิธีเก็บดังนี้

  • เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในตู้เย็น ในกรณีที่เมล็ดพันธุ์มีจำนวนน้อย ๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ผักให้นำเมล็ดพันธุ์มาลดความชื้นพอประมาณ แล้วบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท ก่อนนำเข้าเก็บรักษา
  • เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในห้องปรับอากาศ ซึ่งสามารถควบคุมระดับความชื้นและความชื้นสัมพัทธ์ได้ตามชนิดของพืชที่จะเก็บรักษา

3.  เก็บในที่อุ่นและชื้น เหมาะกับการเก็บรักษา เมล็ดพืชเมืองร้อนหลายชนิด เช่น ลำไย เงาะ มังคุด มะม่วง ทุเรียน โกโก้ มักเป็นเมล็ดพืชที่มีอายุสั้นด้วย

ข้อแนะนำในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช

1.  การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช

  • รมด้วยสารเคมี เช่น ฟอสฟีนอัตรา ½ – 1 เม็ด ต่อเมล็ดพันธุ์ 100 กิโลกรัม
  • คลุมด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น พีรีมีฟอสเมทธิล 50% EC. อัตรา 8-20 ซีซี. ผสมน้ำ 1-2 ลิตร ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 ตัน

2.  อย่าวางเมล็ดบนพื้นดิน หรือพื้นซีเมนต์ ควรวางเมล็ดพันธุ์บนแคร่ หรือยกพื้นห่างจากดิน หรือซีเมนต์อย่างน้อย 15 เซนติเมตร

3.  อย่าวางเมล็ดพันธุ์ไว้ใกล้กับปุ๋ยหรือยาเคมี

4.  อย่าเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในที่ชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ

     เมล็ดพันธุ์ นั้นนอกจากมีความสำคัญด้านการเพาะปลูกแล้วยังมีความสำคัญในแง่ที่เป็นแหล่งสะสมพันธุกรรมของพืช  เพราะในเซลล์ของเอ็มบริโอทุกเซลล์ มีสารพันธุกรรมหรือยีนพืชชนิดนั้น ๆ  อยู่   แม้ว่าต้นพืชชนิดนั้นจะตายไป   แต่ถ้ามีการเก็บเมล็ดของพืชนั้นไว้ก็ยังมียีนของพืชนั้น  ๆ ที่พร้อมจะขยายพันธุ์ต่อไปได้ การอนุรักษ์พันธุ์พืชสามารถทำได้หากเรามีการเก็บรักษาและดูแลเป็นอย่างดี

แหล่งข้อมูลอ้างอิง