ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีรายได้หลักๆส่วนนึงมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม และเนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่ในประเทศยังคงทำการเกษตรเป็นหลัก จึงทำให้ไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญรายหนึ่งของโลก แต่อุปสรรคอย่างหนึ่งของการส่งออกสินค้าเกษตรคือ การถนอมความสดของผลผลิตทางการเกษตร เอาไว้ให้นานที่สุดจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค เนื่องจากความสูญเสียของผลผลิตที่เกิดขึ้นในระหว่าง การขนส่งและการขายเป็นจำนวนมาก จากการประเมินมูลค่าความเสียหายของผักสด หลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง โดยผู้ประกอบการ คิดเป็นประมาณ 35% ของมูลค่าโดยรวม
คนส่วนใหญ่ทราบว่า หาก วางพืชผักผลไม้รวมถึงดอกไม้สดทิ้งไว้ภายนอกที่อากาศร้อน ไม่นานนักผักผลไม้และดอกไม้เหล่านั้นจะเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว แต่มีน้อยคนที่ทราบว่า พืชผักผลไม้รวมถึงดอกไม้สดที่ถูกเด็ดหรือตัดจากลำต้นแล้วยังคงมีชีวิต และมีการหายใจ เสมือนว่าพืชผลเหล่านั้นยังอยู่กับลำต้นเดิม ซึ่งกระบวนการหายใจของพืชผลเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผักผลไม้สูญเสียความสด นอกจากนี้ยังมีเหตุปัจจัยอื่นที่ทำให้ผักผลไม้ และดอกไม้มีอายุการเก็บรักษาสั้น
บรรจุภัณฑ์ดัดแปลงสภาวะบรรยากาศ คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนของก๊าซชนิดต่างๆ ภายในบรรจุภัณฑ์ต่างจากบรรยากาศปกติ จากความรู้เรื่องผักผลไม้และดอกไม้สดหลังการเก็บเกี่ยวนั้นยังมีการหายใจอยู่ ดังนั้นการวางผักผลไม้และดอกไม้ในที่เปิดโล่งหรือในถุงพลาสติกเจาะรูให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก จะมีผลให้ผักผลไม้ได้รับออกซิเจนเพียงพอต่อการหายใจอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พืชเหี่ยวเฉาตามปกติ
ขณะที่การบรรจุผักผลไม้สดในถุงพลาสติกทั่วไป ก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายนอกแพร่ผ่านเข้า-ออกได้น้อย ทำให้ผักผลไม้ภายในใช้ออกซิเจนในการหายใจจนหมด ทำให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการหายใจมากขึ้น เพราะก๊าซภายในไม่สามารถแพร่ออกสู่ภายนอกได้เช่นกัน เมื่อถึงจุดนี้เนื้อเยื่อหรือเซลล์ผักผลไม้จะเกิดการหายใจอีกแบบซึ่ง เป็นการหายใจแบบไม่ใช้ก๊าซออกซิเจนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เกิดสี กลิ่น และรสชาติที่ไม่พึงประสงค์
สำหรับ ผักผลไม้และดอกไม้ที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ดัดแปลงบรรยากาศ จะได้รับก๊าซออกซิเจนตลอด เพราะก๊าซออกซิเจนสามารถแพร่ผ่านผนังบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ภายในได้ระดับหนึ่ง ส่งผลให้บรรยากาศภายในมีความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนพืชต่ำกว่าภายนอก พืชจึงหายใจน้อยลง ขณะเดียวกันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นก็แพร่ออกจากบรรจุภัณฑ์ได้เช่นกัน ทำให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในไม่สูงมากจนส่งผลให้ผักผลไม้เกิดการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน แต่มากพอที่จะเป็นอุปสรรคขวางการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ต่างๆ
ทั้งหมดนี้จึงช่วยชะลอการสุกงอม การสร้างก๊าซเอทิลีน ตลอดจนลดการเปลี่ยนสี กลิ่น และคุณค่าทางอาหารของผักผลไม้ ทำให้ผักผลไม้สดคงความสมบูรณ์จนถึงมือผู้บริโภคได้ในปริมาณมากขึ้น นั่นหมายถึง ปริมาณความเสียหายของสินค้าที่ลดลง