เบญจมาศ (Chrysanthemum morifolium) มีมูลค่าทางการผลิตสูง ราคาดี มียอดขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท อีกทั้งยังถือว่าเป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่มีพื้นที่การปลูกเลี้ยงในประเทศไทย กันในหลายพื้นที่ และเนื่องจากเป็นไม้ดอกที่มีรูปทรงสวยงาม สีสันสดใส ปลูกเลี้ยงง่าย มีหลากหลายสายพันธุ์ อีกทั้งยังเป็นไม้ที่มีขนาดเล็ก ความสูงประมาณ 75-80 เซนติเมตร ตามกิ่งก้านและลำต้นมีขนละเอียด ใบเรียวรี ขอบใบหยัก ใบสีเขียวอ่อนๆ ทั่วทั้งใบ ดอกกลม กลีบใบซ้อนมีหลากหลายสี ผู้คนมักนำไปเป็นไม้ดอกไม้ประดับ แต่ทั้งนี้ปริมาณพื้นที่ปลูกมีแนวโน้มลดลง หันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่สร้างรายได้ เหตุนี้เนื่องจากประเทศไทยขาดการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ๆ การปลูกเบญจมาศสายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิม ได้ทำการปลูกมาอย่างยาวนาน อีกทั้งใช้พื้นที่ปลูกซ้ำๆ และขาดการบำรุงและดูแล จึงเป็นสาเหตุให้พื้นที่นั้นเป็นแหล่งสะสมโรค แบคทีเรีย ไวรัสและแมลงศัตรูพืช ที่ทำให้มีผลต่อปริมาณผลผลิต คุณภาพของผลผลิต และความต้องการในตลาด
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบผลสำเร็จบูรณาการวิจัยร่วมกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สภาดอกไม้แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ในการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการต้านทานโรค…แห่งแรกของไทย พร้อมสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ หวังลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์สายพันธุ์ของต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน/การส่งออกผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับของไทยในตลาดโลก
“…การพัฒนาสายพันธุ์เบญจมาศและสร้างสายพันธุ์ใหม่ให้มีความหลากหลายทั้งสีดอก และรูปทรงที่แปลกใหม่ ตลอดจนสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทย เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์สายพันธุ์ของต่างประเทศ ทำให้ผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทยสามารถแข่งขันกับไม้ดอกไม้ประดับที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย…”นายสายันต์ ตันพานิช กล่าว
ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า ผลงานวิจัยการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ เป็นการพัฒนากระบวนการกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของเบญจมาศทั้งที่มีอยู่แล้ว และเป็นการเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์สู่ระบบการผลิตไม้ดอกเบญจมาศ รวมทั้งสามารถใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากรพันธุกรรมจากสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นวัตถุดิบต้นแม่พันธุ์ เพื่อการพัฒนาให้เกิดการกลายพันธุ์และสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยใช้สายพันธุ์ที่นักวิจัยจาก วว. ได้ปรับปรุงพันธุ์มาทดสอบปลูกเลี้ยง จำนวน 30 สายพันธุ์ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง พร้อมทั้งเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งทำการประเมินศักยภาพของสายพันธุ์ ความเหมาะสมทั้งด้านสีสัน รูปทรงดอก และความคงทนของดอก เพื่อที่จะนำไปส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอก โดยข้อมูลงานวิจัยพบว่ามีสายพันธุ์เบญจมาศ จำนวน 5 สายพันธุ์ ที่ผ่านการประเมินและได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ค้าไม้ดอก
นอกจากนี้การทดสอบปลูกในพื้นที่ดังกล่าวยังได้สายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคอีก 1 สายพันธุ์ ทั้งนี้ สายพันธุ์เบญจมาศที่ได้รับการประเมินสามารถพัฒนาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงต่อไป นอกจากนี้ยังได้ทำการปรับปรุงพันธุ์เบญจมาศด้วยวิธีการใช้สารก่อการกลาย คือ สาร EMS และวิธีการฉายรังสีแกมม่า ซึ่งแนวทางปรับปรุงพันธุ์ทั้ง 2 วิธีดังกล่าว ส่งผลให้สายพันธุ์เบญจมาศเกิดการกลายพันธุ์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกหลากหลายลักษณะ ทั้งนี้ต้องมีการนำมาสายพันธุ์ที่กลายมาศึกษาความคงทน สีสันดอก และประเมินความต้องการของกลุ่มเกษตรกร และผู้ค้าต่อไป
ทั้งนี้จากการปลูกเบญจมาศทั้ง 30 สายพันธุ์ พบว่า มีสายพันธุ์เบญจมาศจำนวน 1 สายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคราสนิม คือ สายพันธุ์ วว.14 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่พบการเกิดโรคราสนิมที่ต้นเบญจมาศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นโรค
“…จากการวิจัยและประเมินสายพันธุ์เบญจมาศของ วว. และเครือข่ายนั้น มีข้อเสนอแนะที่ได้จากการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยคือ ควรมีการกำหนดเขตกรรมในการเพาะปลูก เนื่องจากบางสายพันธุ์มีความอ่อนแอต่อการเกิดโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคหรือมีผลกระทบต่อการปลูกเลี้ยงพืชตัดดอกชนิดอื่นๆ ทำให้เกิดความเสียหายตามไปด้วย นอกจากนี้ควรมีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดต่อการปลูกเลี้ยงเพิ่มเติม เช่น ราคาผลผลิตในแต่ละช่วงฤดูกาล รวมทั้งวิธีการป้องกันและกำจัดโรค เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกเลี้ยงมีแนวทางป้องกัน และควรลดการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสายพันธุ์ที่ปลูกเลี้ยงภายในประเทศ…”ดร.อนันต์ฯ พิริยะภัทรกิจ กล่าวสรุป
อนึ่ง จากการวิจัยดังกล่าว สามารถนำสายพันธุ์เบญจมาศที่ผ่านการคัดเลือกไปปลูกเลี้ยง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านไม้ดอกไม้ประดับ สำหรับจัดแจกันตกแต่งหรือจัดช่อดอกไม้ในงานต่างๆ และการปลูกเลี้ยงแบบไม้ดอกในกระถาง เพื่อใช้สำหรับตกแต่งในนิทรรศการต่างๆ นอกจากนี้ เทคนิคการใช้สารก่อกลายพันธุ์ (EMS) และการฉายรังสีแกมม่ายังสามารถช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้เกิดลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม เพื่อนำไปพัฒนาและถ่ายทอดแก่เกษตรกรปลูกเลี้ยงต่อไป
ในการคิดค้นสายพันธุ์เบญจมาศ วว.14 เบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ ไม่เพียงจะเพิ่มศักยภาพในการต้านทานโรคของเบญจมาศ ที่จะมีผลต่อปริมาณ และคุณภาพของเบญจมาศ ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน/ส่งออก ผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับไทยในตลาดโลก และช่วยในด้านมาตรฐานการปลูกเบญจมาศ ที่จะช่วยรักษาระดับความต้องการของตลาดอีกด้วย