แพะ เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ผู้หญิงและเด็กก็สามารถเลี้ยงดูได้ หากินเองได้เก่ง กินอาหารได้หลากหลาย แพะสามารถกินอาหารได้หลายชนิดมากกว่าสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่น เพราะลิ้นแพะมีตุ่มรับรสขม ทำให้สามารถกินใบไม้ต่างๆได้ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งและอุณหภูมิสูงได้ดี ใช้พื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงดูน้อย เป็นสัตว์ที่เจริญเติบโตเร็ว สามารถผสมพันธุ์ได้ ตั้งแต่อายุเพียง 8 เดือน และให้ลูกเร็วทำให้สามารถตั้งท้องใหม่ได้เร็ว เนื่องจากตั้งท้องเพียง 5 เดือน มีความสมบูรณ์ของพันธุ์สูง ให้ผลผลิตที่หลากหลาย และเป็นสัตว์ที่ประชาชนทุกคนทุกศาสนาสามารถบริโภคได้
ทั้งนี้แพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายอย่างที่กล่าวไป เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจ ที่เราสามารถเลี้ยงเพื่อขายได้ในทุกส่วน ทั้งเนื้อ,นม,ขนหรือแม้กระทั่งเขา แถมราคายังดีอีกด้วย แพะถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่องที่สุดในจำนวนสัตว์ชนิดที่ใกล้เคียงกันและตอนนี้ก็เป็นที่นิยมเลี้ยงกันในกลุ่มเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งที่เลี้ยงเป็นรายได้เสริม และเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก เพราะแพะยังเป็นสัตว์ประเภทสวยงามได้ด้วย โดยพันธ์ุแพะที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยเรามี 2 ประเภท คือ แพะเนื้อและแพะนม
การเลี้ยงแพะนั่้นสามารถเลี้ยงได้หลายแบบ
1.การเลี้ยงแบบผูกล่าม โดยการใช้เชือกผูกล่าม เพื่อให้แพะหาหญ้ากิน รอบบริเวณที่ผูก โดยผู้เลี้ยงต้องมีน้ำ และแร่ธาตุให้แพะกินเวลากลางคืน ก็ต้องนำแพะไปไว้ในคอกหรือเพิงที่มีที่หลบฝน
2. การเลี้ยงแบบปล่อย ที่จะให้แพะจากคอกเพื่ออกหาอาหารกินเองเป็นช่วงเวลา จากนั้นค่อยต้อนกลับเข้าคอก โดยพื้นที่ควรมีร่มเงาหรือต้นไม้ใหญ่ไว้ให้แพะได้มีที่หลบแดดหรือฝน
3.การเลี้ยงแบบขังคอก การเลี้ยงไว้ในคอกแล้วทำรางเพื่อตัดหญ้าหรืออาหารมาให้กินในคอก ตัดใบไม้ต่างๆ หรือใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำมาเลี้ยงแพะได้ ภายในคอกต้องมีน้ำและแร่ธาตุให้แพะสามารถกินได้ตลอดเวลา
4.การเลี้ยงแบบผสมผสานกับการปลูกพืช โดยการเลี้ยงแพะร่วมกับการปลูกพืชหรือไร่สวนต่างๆเช่นการเลี้ยงแพะในสวนยางพาราหรือปาล์มและมะพร้ามเป็นต้นเพื่อให้แพะได้กินวัชพืชในแปลงในสวนและก็จะได้ประโยชน์คือได้ปุ๋ยจากมูลแพะนั่นเองซึ่งทั้งสองอย่างเมื่อผสมผสานกันแล้วก็ทำให้สร้างรายได้ทั้งสองทาง
คำแนะนำการเลือกพันธุ์เลี้ยงแพะให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีประสิทธิภาพ
- เลือกจากพ่อแม่พันธ์ุที่มีลักษณะดี ไม่พิการ
- ไม่ควรนำพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุผสมกับลูกแพะ หรือว่าพี่น้องแพะผสมกันเอง
- เลือกพ่อพันธ์ุที่มีลักษณะตรงตามสายพันธ์ุ เช่นแพะเนื้อจะมีลักษณะรูปร่างที่ใหญ่ กล้ามเนื้อเต็มมีขาที่แข็งแรงพร้อมขึ้นทับตัวเมีย ควรคัดเลือกจากพ่อพันธ์ุที่เกิดจาก แม่แพะที่เคยได้ลูกแฝด
- ลักษณะที่ดีของแม่พันธ์ุแพะ แม่พันธ์ุควรมีรูปร่างลักษณะที่ดี ลำตัวยาว เต้านมใหญ่เท่ากันมีสองหัวนมและที่สำคัญต้องไม่อ้วนจนเกินไปหรือว่าเป็นหมัน มีลักษณะความเป็นแม่ที่ดี
คำแนะนำในการให้อาหารแพะ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของแพะ
- แพะมีความต้องการอาหารหยาบ เช่น หญ้าสดต่างๆ ในปริมาณวันละประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวแพะ
- แพะต้องการอาหารข้นประมาณวันละ 0.5-1.0 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวแพะ การเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิต นอกจากนั้นแพะยังต้องการน้ำและแร่ธาตุ เสริมเป็นประจำอีกด้วย
- แพะต้องการน้ำกินวันละประมาณ 5-9 ลิตร ความต้องการน้ำมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพตัวแพะ และภูมิอากาศ แต่สมควร มีน้ำสะอาดในคอกไว้ให้แพะได้กินน้ำตลอดเวลา
- สำหรับแร่ธาตุที่ให้แพะกินผู้เลี้ยงจะใช้แร่ธาตุก้อนสำเร็จที่มีขายอยู่ให้แพะกินก็ได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่าแร่ธาตุก้อนนั้นไม่ควรแข็งเกินไป ทั้งนี้เพราะลิ้นของแพะสั้นกว่าลิ้นของโค การเลียแร่ธาตุ แต่ละครั้งจึงได้ปริมาณที่น้อย
คุณสมบัติโดดเด่น ที่น่าเลี้ยงแพะ
- ให้ผลผลิตได้ทั้งเนื้อ นม ขน และแม้กระทั่งเขา
- โตเร็วให้ผลผลิตเร็วเลี้ยงไม่นานก็สามารถผสมพันธ์ุและคลอดลูกใช้เวลาในเพียงไม่กี่เดือน
- แพะเลี้ยงง่ายเพราะมีขนาดลำตัวที่เล็กจึงง่ายต่อการดูแลเด็กและผู้หญิงก็สามารถเลี้ยงและดูแลได้
- กินอาหารได้หลายชนิด ทั้งหญ้าและพืชผักผลไม้และสามารถหาอาหารกินเองได้
- เจริญเติบโตเร็ว สามารถผสมพันธ์ุได้เมื่อมีอายุได้แค่เพียง 8 เดือน อุ้มท้องเป็นเวลา 5 เดือน
- มีความสมบูรณ์พันธ์ุสูงสามารถคลอดลูกแฝดและใช้ระยะเวลาสั้นในการเลี้ยงลูกจึงสามารถตั้งท้องใหม่ได้เร็ว
- ที่สำคัญทนต่อสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีคือสภาพที่แล้งและสภาพอากาศร้อน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
- ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย คอกเล็กๆก็อยู่ได้สี่ห้าตัวเพราะแพะตัวเล็ก
- สามารถจำหน่ายได้เมื่อลูกแพะมีอายุได้ 3 เดือน
แพะถือเป็นสัตว์ที่ควรค่าแก่ การเลี้ยงเพื่อนำมาสร้างรายได้ ในรูปแบบต่างๆ และสมควรจะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับทดแทน โค-กระบือ เนื่องจากแพะกินง่ายอยู่ง่าย เติบโคง่าย พื้นที่การเลี้ยงดูน้อย ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแพะมีคุณสมบัติที่หลากหลาย และอื่นๆที่ได้กล่าวมาข้างต้น