สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการเพาะปลูกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพืชที่มีความทรทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี แต่ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรได้ประสบปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ทำให้ขาดทุนในการเพาะปลูก อีกทั้งยังมีใบหลงเหลืออยู่ในแปลง ทำให้เพิ่ต้นทุนในการจัดการเข้าไปอีก วันนี้เราจึงมีนวัตกรรมตัวใหม่ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและกำจัดใบที่หลงเหลือในแปลงออกด้วย นวัตกรรมนั้นคือ เส้นใยสับปะรด นั้นเอง
เส้นใยสับปะรด มีคุณสมบัติพิเศษ ทั้งความแข็งแรงคงทน เป็นวัสดุที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี และสามารถสวมใส่ได้ทั้งฤดูร้อนและฤดูฝน ด้วยคุณสมบัตินี้นักวิจัยและวงการสิ่งทอ จึงเร่งเพิ่มประสิทธิภาพวัตถุดิบจากภาคการเกษตรให้กลายเป็นเส้นใยธรรมชาติ ที่ช่วยเติมเต็มความแปลกใหม่ให้วงการสิ่งทอ
กระบวนการผลิตเส้นใยสับปะรด
เส้นใยสับปะรดสามารถถูกแยกออกมาได้ด้วยวิธีเชิงกลและการหมักที่ไม่ซับซ้อนเหมือนเส้นใยธรรมชาติอื่น เช่น เส้นใยกล้วย จึงมีโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างสูง
การเตรียมใบสับปะรด
การผลิตเส้นใยสับปะรดเริ่มจากการนำใบสับปะรดที่ทำความสะอาดแล้วเข้าสู่เครื่องรีด เพื่อทำให้ใบสับปะรดแตกหรือแยกออกจากกันมากที่สุด เป็นการลดเวลา ทำให้ใบสับปะรดเปื่อยเร็วขึ้น
การหมักใบสับปะรด
นำใบสับปะรดไปหมักโดยแช่น้ำธรรมดาในบ่อหมักและให้โดนแดดนาน 25-30 วัน เมื่อครบกำหนด นำใบสับปะรดมาล้างให้สะอาดและตากแดดให้แห้ง ก่อนนำมาตัดให้เส้นใยมีความยาวประมาณ 51 มิลลิเมตร
การแยกเส้นใยด้วยเครื่อง roller card
นำเส้นใยเข้าเครื่อง roller card เพื่อแยกเส้นใยออกจากกันและมีความนุ่มมากขึ้น จำนวนรอบของการเดินเครื่อง roller card จะขึ้นอยู่กับลักษณะเส้นใยที่ต้องการ เช่น ความนุ่ม ความสม่ำเสมอของเส้นใย ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เดินเครื่อง roller card ประมาณ 3-4 รอบ เส้นใยสับปะรดที่ได้มีน้ำหนักเส้นใยแห้งคิดเป็น 2.85% ของน้ำหนักใบสับปะรดสด
สมบัติทางกายภาพของเส้นใยสับปะรด
หลังจากแยกเส้นใยสับปะรดได้แล้วได้มีการทดสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของเส้นใย เพื่อดูความเหมาะสมในการปั่นเป็นเส้นด้ายในเชิงอุตสาหกรรม
สมบัติทางกายภาพ
ค่าที่วัดได้ CV %
ความละเอียด (fineness) 7.66 denier 32.70
ความแข็งแรง (tenacity) 6.77 g/denier 81.90
ความยืดตัว (elongation) 5.50 % 57.50
จะเห็นได้ว่าเส้นใยสับปะรดนั้นสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้อย่างมากมาย เช่น เสื้อผ้า ผ้ารองจาน พรม กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น เกษตรกรสามารถนำมาประยุกต์ เพื่อสร้างรายได้ และยังได้รับการส่งเสริมให้ผลิตเพื่อการส่งออกอีกด้วย
แหล่งที่มา
ขอขอบคุณ : นวัตกรรมเส้นใยรักษ์โลก / matichononline