Four Farm
พืชผัก

“แตงกวาไฮโซ” ลูกดก ทนไวรัส สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชเป็นอย่างมาก แต่ใช่ว่าการมีพื้นที่และสภาพอากาศที่ดีแล้วเกษตรกรก็ยังคงพบกับปัญหาพื้นฐานอยู่ คือ การมีสายพันธ์ุที่ยังไม่ดีมากพอ ที่จะสามารถต้านทานโรคและแมลงได้ วันนี้เราจึงนำประเด็นของ “แตงกวา” มานำเสนอ

แตงกวา เป็นพืชที่ไม่ชอบสภาพอากาศร้อน เพราะจะส่งผลให้เกิดโรคแมลงมากขึ้น เช่น โรคไวรัส โรคราน้ำค้าง ทำให้ต้นแตงกวาเกิดอาการใบเหลือง แห้งเหี่ยว ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ในช่วงอากาศร้อนมากๆ เพศของดอกจะกลายเป็นตัวผู้ ทำให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้

บริษัท เจียไต๋ จำกัด จึงได้มีการตระหนักถึงปัญหาและได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์แตงกวา “แตงกวาไฮโซ” เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร ที่จะได้แตงกวาที่มีลักษณะ ต้านทานโรคและทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนจัด อีกทั้งแตงกวาไฮโซ ยังมีขนาดผลยาวประมาณ 11 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.8 เซนติเมตร ผลตรงเรียวสวย ไม่งอ การไล่สีของผลเป็นสีขาวเขียวสวยงาม เนื้อแน่นและกรอบอีกด้วย

ขั้นตอนการปลูกแตงกวา

         เริ่มจาก เตรียมแปลงปลูกขนาด 1 เมตร โดยระยะห่างระหว่างแปลงยาว 1 เมตร ให้เสร็จก่อนการเพาะเมล็ด วางสายน้ำหยด 2 เส้น ต่อแปลง ก่อนปูแปลงด้วยมัชชิ่งฟิล์ม เจาะหลุมปลูก ให้มีระยะระหว่างต้น 50 ซม. และระยะระหว่างแถว 60 ซม. (จะวัดจากขอบแปลงทั้งสองด้านเข้ามา ด้านละ 20 ซม.) ปักไม้ทำค้าง ตามระยะระหว่างต้น แล้วผูกไม้ค้างเข้าหากัน ทำเป็นลักษณะของกระโจม เชื่อมแกนกลางด้วยไม้ยาว วางตลอดทั้งแนว

การเตรียมเพาะเมล็ด

        แนะนำให้เกษตรกรเพาะเมล็ดในวัสดุปลูก คือ พีทมอสส์สีส้ม (แบบละเอียด) รดน้ำให้ชื้น แต่ไม่ให้แฉะ เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ หลังการเพาะต้นกล้าแตงกวาประมาณ 7-9 วัน หรือดูที่มีใบจริง ใบแรกโผล่ออกมาให้เห็น ก็เตรียมย้ายลงแปลงปลูกได้เลย โดยปลูกหลุมละ 2 ต้น คลุมแปลงปลูกด้วย spun ball เพื่อกันแมลง และในช่วงฤดูที่ฝนตกหนัก ทั้งนี้เพื่อ ป้องกันลำต้นหัก เมื่อฝนตกรุนแรงได้

การดูแลรักษา

        หลังจากย้ายกล้าแตงกวาลงแปลงแล้ว ควรให้ปุ๋ย โดยใช้วิธีเดินรดไปตามต้น หรือให้ปุ๋ยละลายไปพร้อมกับการให้น้ำ ในช่วงแรกของต้นกล้าจะให้ปุ๋ยวันเว้นวัน ควรฉีดสารเคมี เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง และสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟกับแมลงหวี่ขาว ซึ่งแมลงทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคไวรัส การป้องกันจะเน้นหนักมากในช่วงแรกก่อนที่จะถอด spun ball ออก

        ในช่วงเวลา 2 อาทิตย์ หลังจากย้ายต้นกล้า แตงกวาจะโตขึ้นมาก ถอด spun ball ออก จากนั้น ผูกต้นแตงกวาขึ้นกับค้างที่ได้เตรียมไว้แล้ว จากหลุมละ 2 ต้น ให้เลือกผูกเพียง 1 ต้น โดยพิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลัก จากนั้น ตัดต้นที่เหลือทิ้ง เมื่อผูกทุกต้นขึ้นค้างแล้ว จะเริ่มมีการตัดแต่งแขนงแตงกวาได้ ทั้งนี้ การตัดแต่ง ควรเริ่มทำตั้งแต่เห็นส่วนที่เป็นแขนงใน ข้อที่ 1-5 นับจากโคนต้นขึ้นมา สามารถสกิดออกได้เลย และจะเริ่มไว้แขนงได้ตั้งแต่ ข้อที่ 6 เป็นต้นไป

          เมื่อต้นแตงกวาโตขึ้น จะต้องมีการผูกยอดให้ติดแนบกับค้าง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปะทะกับลมที่แรงๆ โดยตรง ซึ่งจะทำให้ต้นหัก นอกจากนี้ จะทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และโอกาสในการเก็บหลงก็จะลดน้อยลง การผูกยอด ควรหยุดผูกเมื่อต้นแตงกวาโตถึงยอดค้าง การแต่งแขนงต้นแตงกวา จะทำตั้งแต่ ข้อที่ 6 ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต้นแตงกวาเจริญเติบโตจนถึงยอดค้าง การแต่งแขนงมีผลดี คือ ทำให้ลูกที่ได้มีลูกดีเป็นจำนวนมาก ลูกที่ตกเกรดจะลดน้อยลง ยิ่งแต่งแขนงเร็วเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีต่อต้นแตงกวามากขึ้นเท่านั้น ตลอดอายุของแตงกวา ควรให้ปุ๋ย เพื่อบำรุงต้นและผล ร่วมกับการฉีดสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคและแมลงด้วย

 

 

แหล่งที่มา

ขอขอบคุณ : เทคโนโลยีชาวบ้าน / พลังเกษตร

Related posts

บุก ! พืชหัวเศรษฐกิจ สรรพคุณมากมาย

admin
6 years ago

มะระโอกินาวา ปลูกง่าย โตเร็ว ประโยชน์สูง

admin
6 years ago

10 พืชระยะสั้น ปลูกก็ง่าย ขายก็ดี

Kaset Pro
2 years ago
Exit mobile version