คุณ พงษ์พัฒน์ เกษตรกรรุ่นใหม่ จ.มหาสารคาม เผยถึงเคล็ดลับการปลูกพืชหมุนเวียน โดยเริ่มจากแบ่งพื้นที่ปลูกออกเป็นเป็นแปลงย่อยๆ ในแต่ละแปลงจะถูกแบ่งเป็น 7 แถว เพื่อปลูกพืช 7 ชนิดสลับแถวกัน ได้แก่ หอมแบ่ง , ผักโขมแดง , ขึ้นฉ่าย , ผักสลัด , ผักบุ้ง , กะเพรา , โหระพา และ ผักอื่นๆตามแต่ฤดูกาล เช่น ผักพื้นบ้านที่มีความต้องการของตลาดในแต่ละช่วง และ ผักเครื่องเคียงต่างๆ
การนำพืชผักมาลงปลูกใน 1 แถว จะทยอยปลูกห่างกันแปลงละ 1 วัน ทำให้การปลูกพืช 7 ชนิด 7 แถวของแต่ละแปลง จะต้องปลูกห่างกัน 1 สัปดาห์ โดยให้เริ่มจากพืชมีอายุเก็บเกี่ยวนานที่สุดก่อน อย่างเช่น
สัปดาห์ที่ 1 ปลูกผักขึ้นฉ่าย อายุเก็บเกี่ยว 60 วัน
สัปดาห์ที่ 2 ปลูกผักสลัด อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน
สัปดาห์ที่ 3 ปลูกหอมแบ่ง อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน
สัปดาห์ที่ 4 ปลูกผักโขมแดง อายุเก็บเกี่ยว 35 วัน
สัปดาห์ที่ 5 ปลูกผักบุ้ง อายุเก็บเกี่ยว 25 วัน
สัปดาห์ที่ 6 ลงพืชที่เก็บผลผลิตได้ในระยะครึ่งปี เช่น กะเพรา โหระพา
สัปดาห์ที่ 7 ปลูกผักพื้นบ้าน เช่น สะระแหน่ พริก ผักเครื่องเคียงต่างๆ
สาเหตุที่ปลูกแบบนี้ เพราะว่าผักจะได้เวลาเก็บเกี่ยวพร้อมกันทุกชนิด ไม่ต้องห่วงว่าจะมีผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป จนทำให้เสียราคา
เมื่อเก็บเกี่ยวพืชผักแต่ละชนิดหมดแล้ว ให้พลิกดินกลบตอเดิมทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ทิ้งไว้ 3 วัน ให้เริ่มปลูกผักชนิดใหม่ทันที ( ยกเว้นกะเพรา โหระพา เก็บได้จนถึงอายุครึ่งปี ) และ เมื่อเริ่มปลูกใหม่อย่าปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำที่เดิม ให้ปลูกชนิดอื่นสลับกันไป เพื่อป้องกันโรคต่างๆในผัก และ เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในหน้าดิน คล้ายๆกับการปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกถั่วลิสงหลังทำนา เพื่อช่วยบำรุงดิน และ เพิ่มแร่ธาตุในดิน
เราปลูกพืชหลายชนิดสลับกันแบบนี้ พืชจะอิงอาศัยกัน พึ่งพากัน ไม่แย่งสารอาหารตัวเดียวกัน ทำให้มีธาตุอาหารหมุนเวียนอยู่ในดินครวถ้วน พอเก็บเกี่ยวผลผลิต เราสลับที่ปลูกอีก ดินก็ดีไม่เจอแต่พืชซ้ำๆในที่เดิม เพลี้ยอ่อนที่เคยจ้องเล่นงานขึ้นฉ่าย โรคใบจุดที่จับจองผักสลัด ราแป้งในผักบุ้ง โคนเน่าในหอม จะสับสน เพราะพืชแต่ละชนิดย้ายที่ปลูกไปเรื่อยๆ สุดท้ายเลยแทบไม่มีโรค หรือ แมลงรบกวน ทำให้ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ช่วยลดต้นทุนในการปลูก และ ปลอดสารเคมีมากขึ้น
หากทำแบบนี้ได้ครบทุกแปลง จะมีผลผลิตให้เก็บขายตลอด 365 วัน หรือตลอดทั้งปี แบบไม่ต้องห่วงเรื่องราคาพืชผล เพราะ ต่อให้ผลผลิตบางชนิดในฤดูกาลนั้นราคาตกต่ำ ก็ยังมีพืชชนิดอื่นที่มาช่วยพยุงราคาไว้ เมื่อเฉลี่ยรายได้ออกมาแล้ว ทำให้ไม่ลดลงมาก และ ที่สำคัญ เป็นการปลูกที่ช่วยลดต้นทุน เพราะ ลดค่าปุ๋ย และ สารเคมีต่างๆ ไปได้เยอะ
ขอบคุณไอเดียดีๆจาก : คุณ พงษ์พัฒน์ เกษตรกรรุ่นใหม่ จ.มหาสารคาม , thairath
Related posts