เคยเป็นไหม? ตอนเด็ก ๆ เด็ดดอกเข็มมามาดูดน้ำหวาน โตขึ้นมาหน่อยเห็นแม่ผัดดอกขจรให้กิน แล้วไหนจะดอกอัญชันที่เด็ดมาหมักผม มาชงเป็นเครื่องดื่มอีก เอ…แบบนี้ยังอะไรที่เอามาทำเป็นอาหารจากดอกไม้กินได้อีกนะ อยากรู้แล้วล่ะสิ ตามมาเข้าสวนกันเลย แล้วจะรู้ว่าดอกไหนกินได้ ดอกไหนไม่ควรกิน!
ใจเย็นก่อนนะ! อย่าเพิ่งเข้าสวนไปเด็ดดอกไม้เข้าปาก มาเชคก่อนว่าดอกไหนกินหรือกินไม่ได้ อย่างแรกเลย ถ้าจะให้ชัวร์สุด ๆ ควรเลือกดอกไม้ที่เรารู้อยู่แล้วว่ากินได้ มีขายตามท้องตลาดทั่วไป หรือถ้าจะให้ดีดอกไม้ที่เราปลูกเองนี่แหละปลอดภัย ไร้สารแน่นอน แต่ที่ห้ามเด็ดขาดคือ ดอกไม้ริมทาง เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าบริเวณนั้นจะมีอะไรปนเปื้อนติดมาบ้าง ฉะนั้นอย่าไปเด็ดสุ่มสี่สุ่มห้าเอาล่ะ
การเตรียมดอกไม้ ดอกไม้ก็ไม่ต่างจากพืชผักที่ซื้อมาจากตลาดเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เหี่ยวเฉา ฉะนั้นจึงควรแช่ตู้เย็น โดยห้ามล้างน้ำก่อน ไม่งั้นดอกไม้จะช้ำ และเสียเร็ว สำหรับบางดอกต้องเอาเกสรออกก่อน อย่างดอกแคเพื่อไม่ให้ติดรสขมของเกสรตัวผู้
ขั้นตอนการปรุง เพื่อยังคงสีสันสวยงามของดอกไม้ เช่น ดอกขจร ดอกโสน สำหรับกินคู่กับน้ำพริกให้ลวกในน้ำเดือดสักครู่ ขึ้นมาสะเด็ดน้ำน็อกน้ำเย็นทันที และเมนูดอกไม้ที่นิยมกินแบบสุกก็เพราะการกินสดบางชนิดอาจมีกลิ่นที่ไม่เข้ากับอาหารหรือมีเนื้อที่เหนียว ซึ่งส่วนมากที่นิยมนำดอกไม้มาชุบแป้งทอด เพราะว่าทำง่าย กินง่ายสำหรับทุกคน ก็ใครบ้างจะไม่ชอบของทอดล่ะ
1.อัญชัญ
อัญชัน ใครไม่รู้จักดอกนี้ถือว่าแปลกมากค่ะ เพราะหากลองมองดี ๆ มีขึ้นอยู่เต็มไปหมดตั้งแต่หน้าบ้านไปจนถึงริมถนนในเมืองใหญ่ ภายในดอกเต็มไปด้วยสารแอนโธไซยานินที่จะเปลี่ยนสีเป็นสีม่วงเมื่อโดนกรด ซึ่งมีประโยชน์ไปช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น และยังเป็นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ
วิธีปรุงดอกอัญชัน กินสดคู่น้ำพริก หรือคั้นเอาน้ำสีน้ำเงินเข้มไปย้อมสีขนม ย้อมสีอาหารต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะนำไปตากแห้ง ชงเป็นเครื่องดื่ม ทำให้เมื่อเราเทน้ำมะนาวลงไปในน้ำอัญชันก็จะเกิดการเล่นสีเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีม่วง เป็นอีกเมนูเครื่องดื่มที่ว้าวสุด ๆ
2. ดอกกุหลาบมอญ
ดอกกุหลาบมอญ ไม่ว่าใครต่างก็หลงใหลเจ้าดอกไม้สีแดงสดมีหนามกลิ่นหอมชนิดนี้ และยังเป็นสัญลักษณ์ยอดฮิตแห่งความรักโดยเฉพาะในวันวาเลนไทน์ แต่รู้ไหมว่าดอกกุหลาบที่จะเอามาทำ หรือเพิ่มสีสันให้กับมื้ออาหารได้นั้นไม่ใช่ทุกพันธุ์นะจ๊ะ จะต้องเป็นกุหลาบมอญเท่านั้นนะ
วิธีปรุงดอกกุหลาบมอญ ซึ่งเป็นได้ทั้งอาหาร และยาขนานดีที่ช่วยบำรุงหัวใจเป็นยาระบาย ส่วนที่นำมาปรุงอาหารจะใช้เป็นกลีบดอก สามารถนำไปยำกับเนื้อสัตว์เพิ่มรสชาติให้กับเมนูอาหาร หรือจะทำเป็นสลัดโรลดอกไม้ก็เป็นการเพิ่มสีวันได้ดีทีเดียว หรือจะนำดอกไปตากแห้งทำเป็นชาก็ดีเช่นกัน
3. ดอกมะลิ
ดอกมะลิ อีกหนึ่งดอกที่ใครไม่รู้จักก็ถือว่าแปลกมาก ๆ เพราะนอกจากจะเป็นดอกไม้สัญลักษณ์แสดงความรักอันบริสุทธิ์ของแม่แล้ว ดอกตูมสีขาวที่มีกลิ่นหอมละมุนชื่นใจนี้ยังสารพัดประโยชน์ คนไทยนิยมนำดอกมะลิมาใช้สอยทั้งร้อยมาลัย ทำน้ำอบน้ำปรุง และนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารอีกด้วย
วิธีปรุงดอกมะลิ เริ่มจากการเก็บดอกมะลิควรเก็บในช่วงเช้าที่ยังตูมอยู่ ล้างให้สะอาดตัดขั้วดอกทิ้ง นำมาอบในน้ำเปล่าต้มสุก ทิ้งไว้ข้ามคืน เช้ามาจะได้น้ำลอยดอกมะลิหอมชื่นใจ สามารถแช่เย็นดื่มเปล่า ๆ หรือทำเตรียมไว้เป็นวัตถุดิบไว้ทำอาหารอย่างข้าวแช่ หรือขนมไทยสำหรับคั้นกะทิกับน้ำเชื่อม
4. ดอกเฟื่องฟ้า
ดอกเฟื่องฟ้า หรือราชินีแห่งไม้ประดับ ที่ไม่ได้แค่สวยอย่างเดียว แต่ยังกินได้ด้วย ซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดว่าตัวดอกเฟื่องฟ้าคือส่วนที่เป็นสี ๆ แต่จริงแล้วส่วนนั้นคือใบดอก หรือใบที่เปลี่ยนสีนั่นเอง เนื้อสัมผัสบางคล้ายกับกระดาษ รสชาติออกฝาด แล้วยังช่วยบำรุงหัวใจกับระบบขับถ่าย และการปลูกดอกเฟื่องฟ้ายังมีความหมายดี ๆ ถึงความรุ่งเรืองก้าวไกลในชีวิตอีกด้วย
วิธีปรุงดอกเฟื่องฟ้า ด้วยรสชาติที่ฝาดของเฟื่องฟ้าจึงมักนำมาชุบแป้งทอด แต่สีสันบานเย็นสดนี้จะหายไปเมื่อถูกความร้อน ถ้าหากเราอยากเพิ่มความสดใสให้กับอาหาร สามารถนำเฟื่องฟ้ามายำหรือทำส้มตำก็ได้
5. ดอกโสน
ดอกโสน เชื่อว่าไม่มากก็น้อยที่เคยได้ยินนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ โสนน้อยเรือนงาม” ซึ่งเป็นคนละอย่างกับดอกโสนนี้นะ ดอกโสนมีลักษณะเป็นดอกเล็กสีเหลืองสดใส มีมากช่วงปลายฤดูฝนระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม มีรสจืดและมัน มากไปด้วยแคลเซียมกับฟอสฟอรีสที่ช่วยบำรุงกระดูกและสมอง ควรเก็บดอกในช่วงเย็นเพราะยังเป็นดอกตูมดูน่ากิน
วิธีปรุงดอกโสน เลือกใช้ดอกตูมเก็บช่วงเช้า และต้องเด็ดเอาก้านดอกออกให้หมด ไม่อย่างนั้นจะทิ่มปากหมดอรรถรสเอาได้ สามารถกินแบบลวกจิ้มกับน้ำพริก ชุบแป้งทอดกรอบ ใส่ไข่เจียว หรือแม้แต่ของหวานหากินยากอย่างขนมดอกโสน
6. ดอกขจร
ดอกโสน เชื่อว่าไม่มากก็น้อยที่เคยได้ยินนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ โสนน้อยเรือนงาม” ซึ่งเป็นคนละอย่างกับดอกโสนนี้นะ ดอกโสนมีลักษณะเป็นดอกเล็กสีเหลืองสดใส มีมากช่วงปลายฤดูฝนระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม มีรสจืดและมัน มากไปด้วยแคลเซียมกับฟอสฟอรีสที่ช่วยบำรุงกระดูกและสมอง ควรเก็บดอกในช่วงเย็นเพราะยังเป็นดอกตูมดูน่ากิน
วิธีปรุงดอกโสน เลือกใช้ดอกตูมเก็บช่วงเช้า และต้องเด็ดเอาก้านดอกออกให้หมด ไม่อย่างนั้นจะทิ่มปากหมดอรรถรสเอาได้ สามารถกินแบบลวกจิ้มกับน้ำพริก ชุบแป้งทอดกรอบ ใส่ไข่เจียว หรือแม้แต่ของหวานหากินยากอย่างขนมดอกโสน
7. ดอกแนสเตอร์ชัม
ดอกแนสเตอร์ชัม หรือ Nasturtium แปลว่ามีกลิ่นเตะจมูก เพราะดอกไม้ชนิดนี้มีกลิ่นหอมแรง ใบและดอกกินได้ ซึ่งตัวดอกไม้มีสีสันสดใสอย่างสีเหลือ ส้ม และแดง แถมรสชาติของใบก็แรงออกทางสไปซีอีกด้วย ดอกไม้ชนิดนี้ปลูกขึ้นง่าย ตายยาก และออกดอกสวยในสภาพอากาศที่เหมาะสม จึงเป็นดอกไม้ที่นิยมไม่น้อยสำหรับชาวตะวันตก แต่ถ้าเอามาปลูกในไทยล่ะก็…คงจะรอดยาก
วิธีปรุงดอกแนสเตอร์ชัม ด้วยสีสันสดใสของดอกชนิดนี้เราจึงนิยมนำไปตกแต่งจาน หรือนำไปทำเป็นสลัดที่เต็มไปด้วยสีสันของผักใบเขียวสุดสนชื่น พร้อมน้ำสลัดแบบเฮลตี
8. ลาเวนเดอร์
ลาเวนเดอร์ ดอกไม้สีม่วงกลิ่นหอมแรงพืชสมุนไพรที่คนนิยมนำมาสกัดเป็นกลิ่นหอมผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ มีประโยชน์ทั้งด้านความงาม ช่วยไล่แมลง หรือบรรเทาแผลกัดจากแมลง ลาเวนเดอร์ไม่ได้ใช้แค่ภายนอกเทานั้น แต่ส่วนของดอกสีม่วงเองยังนำมาปรุงอาหารเพิ่มความหอมชวนหลงใหล
วิธีปรุงดอกลาเวนเดอร์ นำดอกลาเวนเดอร์ตากแห้งไปชงเป็นชา ดื่มเพื่อความผ่อนคลายนอนหลับปุ๋ยฝันดี หรือจะบดให้เป็นผงละเอียดนำไปปรุงเป็นของหวานหรือเบเกอรีเพิ่มความหอมเป็นเอกลักษณ์ได้ เชื่อเลยว่าชายใดได้กินคงจะหลงใหลในฝีมือเราเป็นแน่
9. ดอกคาโมมายล์
ดอกคาโมมายล์ ดอกเล็กกลีบสีขาวส่วนตรงกลางของดอกที่เป็นสีเหลืองคือดอกย่อยคล้ายดอกเดซี มีรสชาติหวาน ใช้เป็นยามายาวนานตั้งแต่สมัยอียิปต์ ซึ่งในดอกมีสารอะพิจีนีน (Apigenin) ซึ่งช่วยเรื่องต้านการอักเสบ คลายกังวล และยังทำให้นอนหลับสนิทฝันดีอีกด้วย จึงนิยมนำดอกคาโมมายด์ตากแห้งชงดื่มเป็นชา
วิธีปรุงดอกคาโมมายล์ ใช้ดอกแห้งประมาณ 5-10 กรัม ชงเป็นชากับน้ำเดือด ทิ้งไว้สักครู่จนชามีกลิ่นหอม พร้อมดื่มกล่อมนอนให้ฝันดี ซึ่งเราไม่ควรทิ้งชานี้ไว้ข้ามคืน
10. ดอกไชว์
ดอกไชว์ พืชสมุนไพรลักษณะคล้ายต้นหอมแต่ไชว์เล็กกว่ามาก ดอกมีสีชมพูม่วงอ่อน หรือสีขาว กลิ่นออกจะคล้ายหัวหอมอยู่หน่อย ๆ นิยมใช้ปรุงอาหารของชาวตะวันตกอย่างประเทศฝรั่งเศส สวีเดน ฯลฯ
วิธีปรุงดอกไชว์ ส่วนของใบนำมาปรุงรสแต่งกลิ่นในจานสลัดได้ หรือจะนำไปปรุงอาหารที่มีความมันอย่างของทอด น้ำสลัดก็ดี ส่วนของดอกนำไปตกแต่งจานอาหารเพิ่มสีสันตะมุตะมิ