พืชสมุนไพร เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย สมุนไพรไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ใช้ประโยชน์ได้จริง และใช้ได้อย่างกว้างขวาง มีสรรพคุณเป็นยาแบ่งออกได้หลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่เราจะมาพูดถึงกันวันนี้คือ กลุ่มพืชสมุนไพรถอนพิษ ได้แก่

 

1. เทียนบ้าน

 

ต้นเทียนบ้าน หรือ ต้นเทียนดอก เป็นไม้ล้มลุกสูง ลำต้นอวบน้ำ ออกดอกออกผลแล้วต้นจะตาย กลีบดอกมีสีชมพู แดง ม่วง ขาว ผลเป็นผลแห้ง เมื่อแก่จัดจะแตกออก เปลือกผลม้วนขมวดขึ้น และดีดเมล็ดที่ค่อนข้างกลมสีน้ำตาลออกมา เพื่อช่วยกระจายพันธุ์ มีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและปักชำ ปลูกได้ง่ายโตเร็ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ชอบแสงแดดอ่อน ๆ จึงควรปลูกในที่ร่มรำไร

สรรพคุณ :

  • ใบสด แก้ปวดข้อ ยารักษากลากเกลื้อน แก้ฝีและแผลพุพอง ยากันเล็บถอด
  • ใบแห้ง แก้แผลอักเสบ ฝีหนอง แผลเน่าเปื่อย รักษาแผลเรื้อรัง
  • ยอดสด แก้จมูกอักเสบ บวมแดง
  • ต้นสด แก้แผลงูสวัด
  • รากสด แก้บวมน้ำ ตำพอกแผลที่ถูกเสี้ยนหรือแก้วตำ
  • เมล็ดแห้ง แก้ประจำเดือนไม่มา ขับประจำเดือน

 

2. ผักบุ้งทะเล

 

ผักบุ้งทะเลเป็นไม้เลื้อยล้มลุก เลื้อยไปตามผิวทรายหรือดิน ชอบขึ้นในพื้นที่ใกล้ทะเล ต้นมีน้ำยางสีขาว  ดอกบานตอนเช้า บ่ายๆ จะหุบเหี่ยว ผล เป็นผลแห้งแตกได้

สรรพคุณ :

  • ใบสด  เป็นยาพอก ต้มอาบรักษาโรคผิวหนัง แก้ปวดไขข้อบวมอักเสบมีหนอง
  • รากสด ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้โรคเท้าช้าง ปวดฟัน ผดผื่นคันมีน้ำเหลือง
  • ทั้งต้น แก้อาการอักเสบจากพิษแมงกระพรุนไฟ ถอนพิษลมเพลมพัด ต้มอาบแก้โรคคันตามผิวหนัง

 

3. รางจืด

 

รางจืด หรือ ว่านรางจืด เป็นไม้เลื้อย/ไม้เถา ดอกมีสีม่วงอมฟ้า ออกเป็นช่อห้อยลง ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจหรือรูปใบขอบขนานหรือเป็นรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม

สรรพคุณ : รางจืดที่มีประสิทธิภาพ คือรางจืดชนิดเถาดอกม่วง

  • รากและเถา รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ
  • ใบและราก ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง พิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป หรือยาเบื่อชนิดต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย ดินที่ใช้ปลูก ถ้าผสมขี้เถ้าแกลบหรือผงถ่านป่น จะช่วยให้ต้นรางจืดมีตัวยามากขึ้น

 

4. เสลดพังพอนตัวเมีย (พญาปล้องทองง)

 

เสลดพังพอนตัวเมียเป็นไม้พุ่มเลื้อย ลำต้นและกิ่งก้านสีเขียว กลีบดอกสีแดงส้ม ขึ้นตามป่า หรือปลูกกันตามบ้าน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกเหง้าแขนงไปปลูก เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด

หมายเหตุ : เสลดพังพอนมีชื่อพ้องกัน คือ เสลดพังพอนตัวผู้ และเสลดพังพอนตัวเมีย แต่ต่างกันที่เสลดพังพอนตัวผู้มีหนาม สรรพคุณอ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย เพื่อไม่ให้สับสนจึงเรียกเสลดพังพอนตัวเมียว่า พญายอ และตำรายาไทยนิยมนำมาทำยา

สรรพคุณ :

  • ส่วนทั้ง 5 ใช้ถอนพิษ โดยเฉพาะพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ตะขาบ แมลงป่อง รักษาอาการอักเสบ งูสวัด ลมพิษ แผลน้ำร้อนลวก
  • ใบ นำมาสกัดทำทิงเจอร์และกรีเซอรีน ใช้รักษาแผลผิวหนังชนิดเริ่ม Herpes และรักษาแผลร้อนในในปาก  แก้แผลน้ำร้อนลวก
  • ราก  ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน แก้ปวดเมื่อยบั้นเอว

 

5. เสลดพังพอนตัวผู้ (ซองระอา)

 

ต้นเสลดพังพอนตัวผู้ เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1 เมตร มีหนามแหลมยาว ก้านใบสีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม พื้นใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน เส้นใบและก้านเป็นสีแดง  กลีบดอกสีส้ม ผลเป็นฝักรูปไข่ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชุ่มชื้น ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไป

สรรพคุณ :

  • ราก  แก้ตาเหลือง หน้าเหลือง เมื่อยตัว กินข้าวไม่ได้ แก้ผิดอาหาร ถอนพิษงู พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ใบ ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ลมพิษ รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง แก้ปวดแผล แก้โรคฝีต่างๆ รักษาโรคคางทูม แก้โรคไฟลามทุ่ง แก้โรคงูสวัด รักษาโรคเริม ถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ รักษาโรคฝีดาษ ถอนพิษไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้พิษไฟลวกน้ำร้อนลวก แก้ปวดจากปลาดุกแทง
  • ส่วนทั้ง 5  ใช้เหมือนเสลดพังพอนตัวเมีย และใช้แทนเสลดพังพอนตัวเมียได้ แต่ใบเสลดพังพอน   ตัวเมียมีรสจืด ใบเสลดพังพอนตัวผู้มีรสขมมาก และเสลดพังพอนตัวผู้มีฤทธิ์อ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย