แนวโน้มความต้องการ บริโภคผลผลิตทางการเกษตรในโลกที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ในการทำการเพาะปลูกยังคงมีอยู่อย่างคงที่ การทำการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อประชากร   

      โดยปัจจุบันการทำการเกษตรทั่วโลกยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ด้วยเหตุนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คำว่า เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm)  มีให้เราได้เห็น ให้ได้ยินกันหนาหูมากขึ้นตามยุคสมัย เพราะตั้งแต่เราก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในประเทศก็มีมากขึ้น ทำให้ภาคเกษตรเริ่มมีการปรับตัวเองโดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

          เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm หรือ Intelligent Farm) เป็นการทำเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ เครื่องจักร ฯลฯ ที่มีความแม่นยำสูง เข้ามาช่วยในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ในยุคที่แรงงานในภาคเกษตรลดลง อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคการเกษตรเริ่มมีการปรับตัวโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงและประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น

 

           หลักการทำงาน ระบบสมาร์ทฟาร์มจะบูรการข้อมูลภูมิอากาศระดับพื้นที่ย่อย และระดับไร่จากเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆภายในไร่นา (ข้อมูล อุณหภูมิ ความชื้น ในดินและในอากาศ แสง ลม น้ำฝน) กับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา (เรดาห์ ข้อมูลดาวเทียม โมเดลสภาพอากาศ) ที่มีอยู่บนอินเตอร์เน็ต และนำเสนอต่อเกษตรกร เจ้าของไร่ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ การวางแผนการเพาะปลูก การให้น้ำ ให้ปุ๋ยและยา เป็นต้น

 

           แนวคิดของการทำเกษตรอัจฉริย คือ การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture หรือ Precision Farming) โดยเป็นการทำการเกษตรให้เข้ากับสภาพพื้นที่ เน้นพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ เน้นประสิทธิภาพในการเพาะปลูก ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จนถึงกระบวนการปลูกที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจวัดทั้งเรื่องของสภาพดิน ความชื้นในดิน แร่ธาตุในดิน ความเป็นกรดด่าง สภาพปริมาณแสงธรรมชาติ รวมถึงเรื่องศัตรูพืชต่าง ๆ บางประเทศมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมผ่านการปลูกในโรงเรือน เพื่อป้องกันศัตรูพืชและสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

           ประโยชน์ ของ การทำเกษตรอัจฉริยะ 
     1. สามารถบริหารจัดการข้อมูลภายในฟาร์มผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง
     2. มีการเก็บข้อมูลการสรุปการเข้าพื้นที่การทำงานในแต่ละส่วน
     3. สามารถวิเคราะห์วางแผน และเก็บข้อมูลเชิงสถิติได้
     4. สร้างแผนการทำงานในการดูแลพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา
     5. ลดความซ้ำซ้อนและการสูญหายของข้อมูลระหว่างส่วนงาน
     6. สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้